Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

วิริยะประกันภัย เล็งเพิ่มเบี้ยรถ EV ตั้งเป้าปี 68 กำไร 3 พันล้าน รักษาผลตอบแทนลงทุน 4%

Date Time: 19 มี.ค. 2568 16:15 น.

Summary

  • วิริยะประกันภัย วางเป้าปี 2568 กำไรทรงตัวที่ 3,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับตรงเติบโตที่ 42,569 ล้านบาท เติบโต 3.7% พร้อมรักษาผลตอบแทนจากการลงทุน 4% ขับเคลื่อนกลยุทธ์เสริมแกร่งทุกมิติงานทั้ง “บริการ-พันธมิตรธุรกิจ-บุคลากร” เผย มีแผนปรับเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า(EV) เพิ่มขึ้น รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษา Copayment เพื่อให้กระทบกับลูกค้าน้อยที่สุด คาดเริ่มใช้ในไตรมาส 2 ปี 2568

อมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2567 ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยต้องเผชิญสถานการณ์ความเสี่ยงและความท้าทายจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม 

รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค แต่กระนั้น บริษัทฯ ยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำตลาดประกันวินาศภัยได้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัย อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 33 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14.3% ในขณะที่ประกันภัยรถยนต์ซึ่งเป็นพอร์ตหลักของบริษัทฯ ยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เช่นกัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 22.6%

ทั้งนี้ การดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกด้านของประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อุบัติเหตุ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ มีการพัฒนากระบวนการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การรับประกันภัย บริการหลังการขาย 

ตลอดไปถึงการบริการสินไหมทดแทนที่รวดเร็วและเป็นธรรม ด้วยสาขาและศูนย์บริการสินไหมทดแทน รวมถึงจุดบริการในห้างสรรพสินค้า (V-Station) ที่ครอบคลุมกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพัฒนานวัตกรรมบริการอย่างต่อเนื่อง อาทิ VClaim on VCall บริการเคลมออนไลน์, V-Inspection บริการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนทำประกันภัย, V-Roadside Service บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง 

“สำหรับผลประกอบการในปี 2567 บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวม 40,879 ล้านบาท เติบโต 2% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (Motor) 36,380 ล้านบาท เติบโต 2.1% และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) 4,499 ล้านบาท เติบโต 1.2%  อีกทั้งยังคงมั่นคงแข็งแกร่งด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ถึง 70,904 ล้านบาท และอัตราความพอเพียงของเงินกองทุน (CAR) 220%”

ในปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับตรงอยู่ที่ 42,569 ล้านบาท หรือต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 3.7% แบ่งเป็น ประกันภัยรถยนต์ 37,591 ล้านบาท เติบโต 3.3% และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 4,978 ล้านบาท เติบโต 11% ซึ่งจะเห็นว่าในปีนี้ บริษัทฯ จะเน้นการเติบโตของนอนมอเตอร์ให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

อมร เปิดเผยต่อไปอีกว่า แผนการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า โดยในปีนี้ บริษัทฯ จะดำเนินกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “ใช้ทุกวิให้คุ้มค่า : ด้วยบริการที่เป็นเลิศครอบคลุมครบวงจร”

สะท้อนภาพความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการพัฒนางานบริการให้เป็นเลิศในทุกมิติ ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพ Touchpoint การขยาย Ecosystem คู่ค้า และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อให้การเติบโตของงานมอเตอร์และนอนมอเตอร์เป็นไปตามเป้าหมาย

เป้าหมายแรก ยกระดับคุณภาพและความพร้อมในการให้บริการ ทุกจุดที่ลูกค้าได้สัมผัสแบรนด์ (Touchpoint) สอดประสานเป็น Omnichannel สะดวกทุกที่ทุกเวลา ผ่านช่องทางบริการที่หลากหลายและครบวงจร ได้แก่ 

1.ขยายงานตัวแทนและนายหน้าประกันวินาศภัย ให้ได้กว่า 200 ราย โดยเฉพาะในเมืองรอง เช่น อุทัยธานี บึงกาฬ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงยกระดับความรู้และศักยภาพของตัวแทนและนายหน้าประกันวินาศภัย 

2. พัฒนาจุดบริการทั้งสาขา ศูนย์บริการสินไหมทดแทน และจุดบริการในห้างสรรพสินค้า (V-Station) ให้ครอบคลุมทุกบริการอย่างครบวงจร 

3. ยกระดับงานขายและการให้บริการผ่าน Line OA ทั้งในส่วนของวิริยะประกันภัย และวิริยะประกันสุขภาพ ให้กลายเป็น One Stop Service 

4. ยกระดับประสิทธิภาพการออกตรวจสอบอุบัติเหตุ ด้วยการวาง “จุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุ” หรือจุดพักคอยของเจ้าหน้าที่ในการรอเพื่อออกตรวจสอบอุบัติเหตุอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุบ่อยๆ หรือพื้นที่ที่มีอุปสรรค เช่น การจราจรหนาแน่น มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ใช้เวลานาน ฯลฯ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ มีจุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 20 จุด และมีเป้าหมายจะขยายเป็น 30 จุด ภายในปีนี้

เป้าหมายที่สอง ขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของบริการ (Ecosystem)  ได้แก่ 

1. เพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ครอบคลุมทุกแบรนด์ทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาศักยภาพศูนย์ซ่อมมาตรฐานของวิริยะประกันภัย เพื่อรองรับการให้บริการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 

2. การขยายเครือข่ายพันธมิตรศูนย์ซ่อมเฉพาะทาง เช่น ศูนย์ซ่อมรถหรู (Luxury Car) และศูนย์ซ่อมรถขนส่ง เพื่อตอบรับการเติบโตของตลาดประกันภัยรถยนต์เฉพาะทาง 

3. ขยายเครือข่ายพันธมิตรด้านโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เอาประกันภัยสุขภาพ 

4. เพิ่ม Exclusive Partner สำหรับ Privilege Program ซึ่งจะเน้นสิทธิพิเศษแบบ Exclusive Program ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในปัจจุบัน ครอบคลุมทั้งการชอปปิง การกิน-ดื่ม การดูแลสุขภาพ ความบันเทิง และการเดินทาง-ท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าขยาย Exclusive Partner จาก 65 แบรนด์ สู่ 80 แบรนด์ในปีนี้

ส่วนเป้าหมายที่สาม  ยกระดับศักยภาพบุคลากรวิริยะประกันภัย ที่มีอยู่กว่า 6,900 คน ตั้งแต่ระดับบริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ ได้แก่ 

1. พัฒนาศักยภาพตาม Road Map ของแต่ละตำแหน่งงานและช่วงอายุงาน พร้อมตั้งเป้าหมายในการพัฒนาผู้บริหารตามแผน Individual Development Plan (IDP) เพื่อสรรหาและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสูง มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญ สำหรับเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ในอนาคต 

2. พัฒนาความรู้และเสริมทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยี AI  เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ 

3. พัฒนาระบบ Online Training ให้พนักงานสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา ภายใต้แนวคิด Long Live Learning 

4. เสริมความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์มอเตอร์และนอนมอเตอร์ ความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้กับพนักงานในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งงานสินไหมทดแทนส่วนหน้าและส่วนหลัง รวมถึงฝ่ายรับประกันภัย เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทั้งในส่วนของประกันภัยมอเตอร์ ซึ่งในปีนี้จะมีการพัฒนาประกันภัยประเภท 5 (2+,3+) คุ้มครองภัยน้ำท่วมซ่อมอู่ทั่วไป และประเภท 5 (2+) รถไฟฟ้าซ่อมห้าง ส่วนประกันภัยนอนมอเตอร์ บริษัทฯ มีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุ คาดว่าจะเริ่มไตรมาส 2/68 

โดยเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าทั้งแบบมีความรับผิดส่วนแรกและแบบร่วมจ่าย พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยการเดินทางหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ และการซื้อประกันภัยออนไลน์ (E-Sale) พร้อมกับช่องทาง Affiliate Marketing

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า(EV) บริษัทฯ มีแผนปรับเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2567 ต้นทุนสูงค่าซ่อมของอีวีสูงกว่าสันดาปประมาณ 50% แต่ในขณะที่เบี้ยสูงกว่าสันดาปประมาณ 15% แต่เบี้ยก็ยังไม่พอ ต้องยอมรับว่าค่าแรง ค่าอะไหล่ก็สูงกว่าสันดาปมาก ทำให้เราต้องมีแผนที่จะปรับเบี้ยขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องดูยี่ห้อ และรุ่น 

 และในปีนี้ บริษัทฯ ยังได้โฟกัสไปที่การมอบความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยจะออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโจรกรรมรถจักรยานยนต์ คุ้มครองครอบคลุม สูญหาย เสียหายสิ้นเชิง ชดเชยรายได้เมื่อบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เพื่อช่วยบรรเทาภาระ เบี้ยประกันภัยสุดคุ้ม ไม่ถึงวันละบาท 

ซึ่งบริษัทฯ จะมอบสิทธิพิเศษส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาตามแนวนโยบายด้าน ESG ของบริษัทฯ ในปีนี้อีกด้วย

โดย อมร มองว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบบริการที่เป็นเลิศ ทั้งความใส่ใจในบริการ สร้างความมั่นใจ วางใจ และทันใจให้ผู้ถือกรมธรรม์วิริยะประกันภัยกว่า 8 ล้านกรมธรรม์ ได้รับประสบการณ์ ‘ใช้ทุกวิให้คุ้มค่า’  โดยมีหัวใจสำคัญคือบุคลากรวิริยะประกันภัยทุกส่วนงานเป็นแรงขับเคลื่อนนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย

“ทั้งนี้ด้วยเพราะค่าสินไหมสูงขึ้น ค่าเบี้ยจึงสูงขึ้นตามไปด้วย บริษัทฯ จึงได้ศึกษา Copayment ที่บางบริษัทมีการนำร่องแล้ว เพื่อที่จะทำยังไงให้มีผลกระทบกับลูกค้าน้อยที่สุด ซึ่งถือเป็นความท้าทายหลักในปี 2568 โดยคาดว่าจะลอนช์ในไตรมาส 2/68 นี้ ขณะที่ความท้าทายของ Motor คือ อุทกภัยเป็นเรื่องที่เกิดโดยฉับพลัน เราเตรียมรับมือทุกสถานการณ์และดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด ส่วนตลาดรถยนต์ป้ายแดงปีนี้จากภาพสองเดือนยังไม่ค่อยชัด อย่างปีที่แล้วภาพรวมอุตสาหกรรม ลดลง 20% ปีนี้แนวโน้มมองว่ายังไม่เติบโต แต่ตัวเลขยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะคล้ายๆ กับปีที่ผ่านมา” อมร กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)