หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น.ที่ผ่านมา และพบว่าอาคารสูง คอนโดมีเนียมบางแห่งมีรอยร้าว มีความเสียหายเกิดขึ้น
“สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ออกประกาศแจ้งผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้ามีความคุ้มครองให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว
1. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 หรือ กรมธรรม์ประเภท 2+ / 3+ (เฉพาะกรมธรรม์ที่ขยายความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติเท่านั้น)
2. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว
3. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว เฉพาะกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมเท่านั้น
4. กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว
5. กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Work Insurance: CWI) ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว
6. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance: PL) ให้ความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหว หากไปก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลภายนอก
ทั้งนี้ สมาคมฯ มีศูนย์ประสานงานระหว่างบริษัทประกันภัยและประชาชน เพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การตรวจสอบข้อมูลกรณีกรมธรรม์สูญหาย หรือรายละเอียดความคุ้มครองผ่านทางสื่อ Online บนเพจ Facebook สมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เบอร์สายด่วนของทุกบริษัทประกันภัยให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ภัยจากแผ่นดินไหวถือเป็นความเสี่ยงที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ด้วยการทำประกันภัย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน โดยก่อนตัดสินใจซื้อควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง และรายละเอียดของข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยให้เข้าใจ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยมากที่สุด
การยื่นเคลมประกันภัยความเสียหายจากแผ่นดินไหว มีข้อควรทราบและคำแนะนำเพิ่มเติมดังนี้
1.รีบดำเนินการทันที: แจ้งความเสียหายต่อบริษัทประกันภัยโดยเร็วที่สุดหลังจากเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากกรมธรรม์หลายฉบับมีกำหนดเวลาสำหรับการยื่นเคลม การแจ้งเคลมทันทีจะช่วยให้กระบวนการเริ่มต้นได้รวดเร็วและอาจมีผลต่อการพิจารณาเคลม
2.บันทึกหลักฐานทุกอย่าง: บันทึกความเสียหายทั้งหมดอย่างละเอียดด้วยภาพถ่ายและวิดีโอก่อนที่จะทำการซ่อมแซมเบื้องต้นใดๆ เก็บรวบรวมรายการทรัพย์สินที่เสียหายและประมาณมูลค่าหากเป็นไปได้ การมีรายการทรัพย์สิน (home inventory) จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
3.ดำเนินการป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม: ดำเนินการตามสมควรเพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมต่อทรัพย์สิน เช่น การคลุมหลังคาที่เสียหาย หรือปิดหน้าต่างที่แตก เพื่อป้องกันฝนหรือการโจรกรรม เก็บรวบรวมใบเสร็จค่าใช้จ่ายสำหรับการซ่อมแซมชั่วคราวเหล่านี้ เนื่องจากอาจสามารถนำมาเบิกกับบริษัทประกันภัยได้
4.หลีกเลี่ยงการซ่อมแซมถาวรในขั้นต้น: อย่าทำการซ่อมแซมถาวรก่อนที่เจ้าหน้าที่ประเมินความเสียหายของบริษัทประกันภัยจะเข้ามาตรวจสอบ เนื่องจากอาจมีผลต่อการพิจารณาเคลม บริษัทประกันภัยจำเป็นต้องประเมินความเสียหายเดิมที่เกิดจากแผ่นดินไหวเพื่อพิจารณาความคุ้มครอง
5.ทำความเข้าใจในกรมธรรม์: อ่านและทำความเข้าใจในกรมธรรม์ประกันภัยของคุณอย่างละเอียด รวมถึงข้อยกเว้น วงเงินคุ้มครอง และค่าเสียหายส่วนแรกที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ตรวจสอบวงเงินคุ้มครองรวมสำหรับภัยธรรมชาติด้วย
6.ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประเมินความเสียหาย: ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ประเมินความเสียหายที่บริษัทประกันภัยส่งมา ให้ข้อมูลและเอกสารที่ร้องขออย่างครบถ้วนและตรงเวลา จดบันทึกชื่อ ข้อมูลติดต่อ วันที่ และเนื้อหาของการสนทนากับเจ้าหน้าที่
7.ขอใบเสนอราคาค่าซ่อมหลายแห่ง: ขอใบเสนอราคาค่าซ่อมจากผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือและมีใบอนุญาตอย่างน้อย 2-3 แห่ง เพื่อเปรียบเทียบราคาและขอบเขตงาน โดยทั่วไปแล้วคุณมีสิทธิ์เลือกผู้รับเหมาเอง แต่ควรปรึกษากับบริษัทประกันภัยก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าราคาที่เสนอเป็นที่ยอมรับ
8.อย่ารีบร้อนในการตกลงค่าสินไหมทดแทน: อย่ารู้สึกกดดันที่จะต้องยอมรับข้อเสนอการจ่ายค่าสินไหมทดแทนครั้งแรก หากคุณไม่แน่ใจว่าข้อเสนอนั้นยุติธรรมหรือไม่ ให้เตรียมพร้อมที่จะเจรจาเพื่อขอค่าสินไหมทดแทนที่เป็นธรรมและเข้าใจสิทธิของคุณในฐานะผู้ถือกรมธรรม์ หากไม่แน่ใจ ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
9.เก็บสำเนาเอกสารทุกอย่าง: เก็บสำเนาเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเคลมของคุณ รวมถึงแบบฟอร์มการเคลม กรมธรรม์ประกันภัย การติดต่อกับบริษัทประกันภัย ใบเสนอราคาค่าซ่อม และใบเสร็จค่าใช้จ่าย การมีเอกสารที่จัดเก็บอย่างเป็นระเบียบจะเป็นประโยชน์หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น หรือหากคุณต้องการอ้างอิงข้อมูลในภายหลัง
10.ขอความช่วยเหลือหากจำเป็น: หากประสบปัญหาในระหว่างกระบวนการเคลม หรือเชื่อว่าการเคลมไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นธรรม หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรมธรรม์หรือสิทธิ อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและสามารถช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ถือกรมธรรม์และบริษัทประกันภัยได้
และจากกรณีที่มีผู้ขับขี่รถยนต์ได้รับความเสียหายจากการที่แท่งปูนหล่นใส่รถยนต์ที่กำลังขับขี่มา ทำให้ได้รับบาดเจ็บทั้งตัวผู้โดยสารและสินทรัพย์นั้น หากรถที่ทำประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่นั้น? ข้อมูลจากทางกรุงเทพประกันภัยระบุว่า สำหรับรถที่ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้ จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น กรณีน้ำท่วม แผ่นดินไหว ลูกเห็บ และลมพายุ แต่สำหรับรถที่ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 2, ประเภท 3 หรือประเภท 2+ จะไม่ได้รับความคุ้มครองในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม หากผู้เอาประกันภัยที่มีความสนใจจะทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 2, ประเภท 3 หรือประเภท 2+ แบบเพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติเช่นเดียวกับประเภท 1 ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน โดยการขอชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเพื่อขยายความคุ้มครองดังกล่าว หรือโดยการเลือกซื้อแผนประกันภัยต่างๆ ตามที่บริษัทประกันภัยกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัย ได้เร่งติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้บริษัทประกันภัยเตรียมพร้อมดำเนินการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้
และขอให้ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตรวจสอบกรมธรรม์ของตนเอง หรือติดต่อบริษัทประกันภัยที่ได้ทำประกันภัยไว้ และขอย้ำว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏว่ามีนายหน้าประกันวินาศภัยหลายแห่งมีพฤติกรรมการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันวินาศภัย ในนามของผู้เอาประกันภัย พร้อมกับมีการทำข้อตกลงหรือสัญญากับผู้เอาประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยผ่อนชำระเบี้ยประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยไม่ผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาที่กำหนด นายหน้าประกันวินาศภัยจะเป็นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยในนามผู้เอาประกันภัยกับบริษัท และเป็นผู้รับคืนเบี้ยประกันภัยจากบริษัท
และหาก ข้อตกลงหรือสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สินเชื่อ ซึ่งมิใช่หน้าที่ตามกฎหมายของนายหน้าประกันวินาศภัย และเป็นแบบสัญญาสำเร็จรูปที่มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ล่วงหน้าให้ลูกหนี้หรือผู้เอาประกันภัย จะต้องมอบอำนาจในการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยให้กับเจ้าหนี้ หรือนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นข้อตกลงหรือสัญญาแยกต่างหากอีกฉบับหนึ่งจากสัญญาประกันภัย
โดยผู้เอาประกันภัยไม่สามารถต่อรองหรือเจรจาก่อนเข้าทำข้อตกลงหรือสัญญา แม้จะกำหนดให้นายหน้าประกันวินาศภัยจะต้องได้รับการยืนยันการบอกเลิกจากผู้เอาประกันภัยก็ตาม หากพิจารณาจากสถานการณ์ในทางปฏิบัติแล้ว
เงื่อนไขดังกล่าวอาจไม่เอื้ออำนวยให้ผู้เอาประกันภัยได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนหรือเป็นไปได้ยากที่จะได้รับการยืนยันจากผู้เอาประกันภัยได้อย่างชัดแจ้ง รวมถึงไม่มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการที่เป็นธรรมกับผู้เอาประกันภัย กรณีผู้เอาประกันภัยไม่ยืนยันการบอกเลิกข้อตกลงหรือสัญญาดังกล่าว จึงอาจมีลักษณะที่ทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องเสียเปรียบเกินสมควร ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและต้องห้ามตามกฎหมาย ที่ไม่สามารถกำหนดไว้ในข้อตกลงหรือสัญญาได้
“สำนักงาน คปภ. ขอแจ้งเตือนว่า หากพบว่านายหน้าประกันวินาศภัย มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในข้อตกลงหรือสัญญาให้สินเชื่อ และอาศัยเงื่อนไขดังกล่าว ในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โดยท้ายที่สุดบริษัทได้ยุติความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย
รวมถึงมีการคืนเบี้ยประกันภัยไปยังนายหน้าประกันวินาศภัย กรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย และเป็นความผิดอันมีโทษ ซึ่งนายหน้าประกันวินาศภัยที่กระทำความผิดอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย และถือว่ามีพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ในการทำหน้าที่ (Conflict of Interest) ของนายหน้าประกันวินาศภัย ในฐานะผู้แทนของผู้เอาประกันภัย และที่สำคัญบริษัทประกันวินาศภัยยังคงต้องให้ความคุ้มครองต่อไปจนสิ้นอายุกรมธรรม์ประกันภัย"
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้แจ้งบริษัทสมาชิกที่เป็นนายหน้าประกันภัยที่เป็นคู่สัญญาให้รับทราบต่อไป ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงาน คปภ. หรือสายด่วน คปภ. 1186
ด้านกรมโยธาธิการและผังเมือง แสดงความห่วงใยประชาชนจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น แนะนำให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด พร้อมแนะนำประชาชนดาวน์โหลด “คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคาร หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว” เพื่อประเมินความปลอดภัยของอาคารหลังเกิดแผ่นดินไหว ได้ที่ลิงก์ https://www.dpt.go.th/th/documents-dpt/947#wow-book/%C2%A0
อีกทั้ง กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 โดยประสานงานกับสภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร ในการเตรียมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเร่งดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร โดยจะเน้น อาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นลำดับแรกและหากประเมินแล้วอาคารมีความเสี่ยงไม่ปลอดภัยในการใช้อาคาร จะเสนอให้มีการระงับการใช้อาคาร และให้ดำเนินการมีการปรับปรุงให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงก่อนเปิดใช้อาคารต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กรมฯ ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอแล้วจำนวน 3 หน่วยงาน 9 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 3 อาคาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 2 อาคาร และโรงพยาบาลเลิดสิน 4 อาคาร และในวันที่ 29 มีนาคม 2568 จะมีการประชุมหารือวางแผนกำหนดแนวทางการตรวจสอบอาคารร่วมกัน
โดยจะเข้าดำเนินการตรวจสอบอาคารเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1. อาคารกระทรวงพาณิชย์ 2. อาคารกระทรวงมหาดไทย 3. อาคารสำนักงบประมาณ 4. อาคารทำเนียบรัฐบาล 5. อาคารคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ 6. อาคารกรมศุลกากร(คลองเตย) 7. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 8. กรมสรรพากร (อารีย์) และจะดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับแจ้งเพิ่มเติมต่อไป
กรมโยธาธิการและผังเมืองยังแนะนำให้เจ้าของอาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้า ที่เป็นของภาคเอกชน ติดต่อผู้ตรวจสอบอาคารประจำอาคาร หรือผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีอยู่กว่า 2,600 ราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของการเข้าใช้อาคารตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง
หากเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคารหรือผู้ตรวจสอบอาคารต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาที่ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้ตามช่องทางที่กำหนด
ขณะเดียวกันในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยให้รวบรวมวิศวกรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาในพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบอาคารเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เผยแพร่คู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง หลังแผ่นดินไหว เพื่อให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร และประชาชนทั่วไปรับทราบผ่านทุกช่องทาง พร้อมทั้งเปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษาและแจ้งเหตุที่หมายเลข 02-299-4191 และ 02-299-4312 ตลอด 24 ชั่วโมง จึงขอให้ประชาชนและเจ้าของอาคารที่พบความเสียหาย ดำเนินการให้มีการประเมินตรวจสอบอาคาร เพื่อให้มีความปลอดภัยในการเข้าใช้อาคารต่อไป
โดยในส่วนของอาคารบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมฯ จะร่วมกับกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์ ประเมิน ตามข้อมูลที่ได้รับผ่านแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue (ทรัฟฟี่ฟองดู) ของกรุงเทพมหานครต่อไป
และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทางบริษัทประกัน ได้ออกมาให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ เช่น TQM ที่แจ้งขั้นตอนการเคลมประกันบ้านจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดังนี้
1.แจ้งความเสียหายกับทาง TQM ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ สายด่วน 1737, Line TQM Insurance Broker และ Application TQM24
2.เตรียมเอกสารและหลักฐานทั้งหมดให้กับเจ้าหน้าที่
3.บริษัทประกันภัยจะติดต่อกลับ เพื่อนัดรับเงินและลงนามในเอกสารตกลงค่าเสียหาย
4.รอรับค่าสินไหมผ่านบัญชีธนาคารที่ได้ให้ไว้กับบริษัทประกัน
สำหรับเอกสารที่ใช้ในการเคลมประกันบ้าน ได้แก่
หมายเหตุ: บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหม ภายในระยะเวลา 14 วันทำการ
หลังจากที่ผู้เอาประกันภัยลงนามในเอกสารตกลงค่าเสียหาย
ด้านเมืองไทยประกันภัย แจ้งว่า หากมีการพบความเสียหายของตัวบ้านและทรัพย์สิน สามารถติดต่อเพื่อแจ้งเคลมสินไหมทดแทนความเสียหาย ได้ที่ Call center 1484 และ Line OA: @mtifriend
อ้างอิง คปภ.1 , คปภ.2 , กรมโยธาธิการและผังเมือง , กรุงเทพประกันภัย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney