สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยว่า สมาคมประกันชีวิตไทยได้ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต ในปี 2567 อยู่ที่ 2–4% ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.2–3.2%
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากกระแสคนรักสุขภาพ อันเนื่องมาจากโควิดและฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น รวมถึงแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ และมีการทำประกันสุขภาพมากขึ้น
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2566 ระหว่าง มกราคม-ธันวาคม ที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 633,445 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.61% เมื่อเทียบกับปี 2565 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) 178,470 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 5.06% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) 454,975 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.06%
1. เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) 112,377 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.83%
2. เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 66,093 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 2.18%
1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 338,920 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 4.21% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 53.50%
2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 239,112 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.41% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 37.75%
3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 30,808 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 16.19% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 4.86%
4. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 1,930 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 11.07% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 0.30%
5. การขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่น การขาย Worksite, Walk in การขายผ่านการออกบูธ การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ Direct Mail, Tele Marketing ฯลฯ เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 22,676 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 2.58% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 3.58%
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตมากขึ้น ในปี 2566 คือ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 109,786 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5.93% คิดเป็นสัดส่วน 17.33%
ซึ่งหลักๆ มาจากการที่ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพและเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงและรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ด้านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว
รวมถึงมีการเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินช่วงวัยเกษียณกันมากขึ้น เพราะนอกจากเป็นรูปแบบการออมประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำแล้ว ยังได้รับความคุ้มครองชีวิต และสิทธิการลดหย่อนภาษีที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการลดหย่อนภาษี จึงส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ในปี 2566 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 17,986 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14.26% หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.84%
ในขณะเดียวกันในปี 2567 ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามแนวโน้ม และความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์เงินเฟ้อ และตลาดหุ้นไทย ที่ส่งผลกระทบต่อการออม การลงทุน และการใช้จ่ายของภาคประชาชน
รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกิดโรคอุบัติใหม่ เพราะส่งผลต่อความต้องการและความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันชีวิตโดยตรง
“เนื่องจากเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนมีผลกระทบต่อกำลังซื้อโดยตรงของประชาชน ด้วยเพราะประกันชีวิตไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก จึงขึ้นอยู่กับเบี้ยประกัน ความคุ้มครองที่จะมีผลต่อการตัดสินใจโดยรวม ส่วนอัตราการต่ออายุของลูกค้าเก่ายังคงเป็นปกติ ขณะเดียวกันในด้านของ การป่วยเล็กน้อยทั่วไป หรือ Simple diseases ยังคงมีสัดส่วนที่มากอยู่เช่นกัน” สาระ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้สมาคมฯ มีนโยบายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ และสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนากระบวนการต่างๆ ของธุรกิจประกันชีวิต เพื่อยกระดับความ
พึงพอใจและความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัยให้มากขึ้น มีการส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น เรื่องการรู้เท่าทันของเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์ เพื่อช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงมีนโยบายเชิงรุกในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน