เคยสงสัยกันไหม? ว่าทำไม “คนรวย” ถึงยิ่งรวยขึ้น ในขณะที่คนทั่วไป หรือ มนุษย์เงินเดือน ยังคงต้องดิ้นรนรายวัน นอกจากคนรวยเหล่านั้น มีเงินทองมากมาย ต่อยอด ใช้เงินทำงานแทนแรง สร้างโอกาส เพิ่มพูนความมั่นคั่งไม่รู้จบ ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น
ประเด็น พื้นฐานจากความแตกต่างในระบบภาษี และการวางแผนจัดการเงินอย่างชาญฉลาด ระหว่างคนรวยและคนทั่วไป ก็เป็นอีกเรื่องที่อาจตอบคำถามในเรื่องนี้ได้เหมือนกัน
จนมีคำกล่าวที่ว่า “คนรวยบางคน อาจเสียภาษีต่ำกว่าคนเงินเดือน 50,000 บาท เสียด้วยซ้ำ” แล้วทำไม คนรวยถึงเสียภาษีน้อยกว่า
ระบบภาษีของประเทศไทย มีอัตราภาษีที่ขึ้นอยู่กับประเภทของรายได้ เช่น
สำหรับ คนที่มีรายได้จากเงินเดือน (เช่น มนุษย์เงินเดือน) จะเสียภาษีตามอัตราที่กำหนดในแต่ละช่วงรายได้
0-150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี
150,001 - 300,000 บาท เสีย 5%
300,001 - 500,000 บาท เสีย 10%
500,001 – 750,000 บาท เสีย 15%
750,001 – 1,000,000 บาท เสีย 20%
1,000,001 – 2,000,000 บาท เสีย 25%
2,000,001 – 5,000,000 บาท เสีย 30%
รายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป เสีย 35%
ส่วนคนที่มีรายได้จากการลงทุน (เช่น การลงทุนในหุ้น, อสังหาริมทรัพย์) อาจได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีบางประเภทหรือใช้กลยุทธ์ลดภาษีที่มีอยู่ในระบบมากมาย
แล้วคนรวยเสียภาษีน้อยกว่าได้ยังไง?
ต้องเข้าใจก่อนว่า “คนรวย” ไม่ได้รับรายได้จากเงินเดือน เหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป และยังสามารถ สร้างโครงสร้างรายได้ ให้เสียภาษีน้อยที่สุดได้ เช่น การรับเงินเป็น "กำไรจากการลงทุน"
ยกตัวอย่าง ถ้าคนรวยมีหุ้นและขายหุ้นได้กำไร 1,000,000 บาท
ในอดีตไทย ไม่มีภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ดังนั้น เสียภาษี = 0 บาท
เทียบกับคนเงินเดือน 50,000 บาท ที่เสียภาษี ตามอัตราภาษีก้าวหน้าของไทย แบบไม่มีค่าลดหย่อนอื่นๆ เงินได้ 600,000 บาท/ปี อาจต้องเสียภาษีถึง 15% จะเห็นได้ว่า คนรวยที่ทำเงินจากหุ้นเสียภาษีน้อยกว่าจริง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีการนำ ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax - FTT) ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดหมู่ของภาษีธุรกิจเฉพาะ มาใช้ โดยในปี 2567 อัตราภาษีนี้อยู่ที่ 0.11% ของมูลค่าการขายหลักทรัพย์ทั้งหมด คล้ายเป็นค่าธรรมเนียมการซื้อขาย แต่สำหรับนักลงทุนบุคคลธรรมดาจะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นอกจากนี้ ลึกลงไป คนรวย ยังมีแนวทางการจัดการรายได้หลายแบบ ทำให้โอกาสในการ “เสียภาษี” น้อยลงได้ แถมยังไม่ผิดต่อข้อกฎหมาย ขณะที่บางคน มีการวางแผนภาษีแบบดุดัน (Aggressive tax planning) รัดกุมสุดๆ โดยที่กฎหมายก็เอาผิดไม่ได้เช่นกัน
คล้ายกรณี นายกฯกับภาษี ที่เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองและสังคมไทย อยู่ในขณะนี้ โดย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ออกมาให้ข้อมูลและแง่มุมชวนคิดว่า แม้กฎหมายจะกำหนดให้คนไทยมีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่มีกฎหมายข้อไหนบังคับให้ต้องเสียภาษีแพงที่สุดเท่าที่จะเสียได้
การเลือกหนทางที่ทำให้ตัวเองเสียภาษีน้อยที่สุด ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ทราบเท่าที่เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนกรมสรรพากร ออกมาชี้แจง ว่า ท้ายที่สุดแล้ว แม้นายกฯและครอบครัว ทำธุรกรรม ผ่านการออกตั๋ว P/N แต่เมื่อนายกฯ จ่ายเงินแล้ว ผู้ขายจะต้องยื่นแบบฯ ในปี 2570 ในประเภทเงินได้ เกินกว่าที่ลงทุน (Capital Gains)
กลับมาที่ แนวทางการจัดการภาษีของคนรวย ยังมีหลายวิธีการ เช่น การใช้บริษัทเป็นตัวรับรายได้แทนบุคคล ถ้าคนรวยทำธุรกิจส่วนตัว อาจตั้งบริษัทขึ้นมา แล้วให้บริษัทเป็นคนรับเงิน
โดยภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20% ซึ่งบางกรณีอาจถูกกว่าภาษีบุคคลธรรมดาที่สูงสุดถึง 35% และถ้าใช้ ค่าใช้จ่ายบริษัทหักภาษีได้ นั่นก็อาจทำให้เงินที่เหลือเสียภาษีน้อยลงไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีช่อง การกู้เงินแทนการรับเงิน ,คนรวยถือสินทรัพย์ เช่น หุ้น ที่ดิน แต่ ไม่ขาย หรือ การเอาหุ้นไป ค่ำประกันกู้เงิน มาใช้จ่ายแทน
ตัวอย่างอันโด่งดังระดับโลก อย่างกรณี “เจฟฟ์ เบซอส”ผู้ก่อตั้งแอมะซอน ที่รับเงินเดือนเพียง 2 แสนบาท และการกู้เงินโดยมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้เขาสามารถเข้าถึงความมั่งคั่ง โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จำนวนมากในบางปี จนถูกหยิบยก ว่านี่เป็นเทคนิคการลดละเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้ แบบเหนือชั้น
ขณะในไทย เจ้าสัว หรือ เจ้าของบางธุรกิจ ก็อาจเสียภาษีน้อยกว่ามนุษย์เงินเดือน เพราะรับเงินเดือนต่ำ (เพื่อลดภาษีบุคคลธรรมดา)และใช้ เงินปันผล (Dividend) ซึ่งเสียภาษีแค่ 10% แทนเทียบกับมนุษย์เงินเดือนที่อาจต้องเสียภาษีสูงสุดถึง 35%
การจัดการทรัพย์สินผ่านทายาทเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีมรดก ยังเป็นอีกเหตุผล ที่ทำให้คนรวยสามารถรักษาความร่ำรวยได้โดยไม่ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับคนทั่วไป
พวกเขาเหล่านั้น สามารถถ่ายทอดทรัพย์สินและความมั่งคั่งให้กับทายาทหรือทายาทรุ่นต่อไปโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ (เช่น มรดก, ทรัสต์, การถือครองหุ้นในบริษัทต่างๆ
ซึ่งจะว่าไปแล้ว การดำเนินการวางแผนภาษีเหล่านี้ ล้วนเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย (Tax Avoidance) และแตกต่างจากการหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Evasion) ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ที่สำคัญ การส่งต่อความร่ำรวย อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การย้ายทรัพย์สิน แต่ยังหมายถึงการมีโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินและการลงทุนที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ คนที่มีฐานะดีมักจะมีความสามารถในการลงทุนในกิจการที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น หุ้น, อสังหาริมทรัพย์, หรือธุรกิจเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความร่ำรวยได้อย่างต่อเนื่อง ไม่รู้จบนั่นเอง
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์ฯ , กรมสรรพากร ,สมาคมนักวางแผนการเงินไทย , กสิกรไทย ,Finnomena
อ่านข่าวการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงิน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/personal_finance
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney