Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

ภัยแผ่นดินไหว ประกันชีวิต-ประกันภัยคุ้มครอง คปภ.เปิดสายด่วน 1186 ตอบทุกข้อสงสัย

Date Time: 30 มี.ค. 2568 19:22 น.

Summary

  • คปภ. จับมือ สมาคมประกันวินาศไทย สมาคมประกันชีวิตไทย แจงมาตรการช่วยเหลือเยียวยา "เคลมประกันจากเหตุแผ่นดินไหว" ชอตต่อชอต ตั้งแต่ระดับบุคคล สถานประกอบการ และอาคาร สตง.แห่งใหม่ที่ถล่มลงมา

ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แถลงมาตรการการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุแผ่นดินไหว ร่วมกับนายกสมาคมประกันชีวิตไทยและนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย วันที่ 30 มีนาคม

โดยระบุว่า กรณีที่ 1 อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านจตุจักร ขณะนี้ได้มีการยืนยันว่า มีบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่งรับประกัน ได้แก่

  • ทิพยประกันภัย สัดส่วนการรับประกัน 40%
  • กรุงเทพประกันภัย 25%
  • อินทรประกันภัย 25%
  • วิริยะประกันภัย 10%

โดยทั้ง 4 บริษัทได้ทำประกันภัยแบบ CAR หรือ Construction All Risks มูลค่าเงินเอาประกันรวมประมาณ 2,200 ล้านบาท และทั้ง 4 บริษัทได้ทำประกันภัยต่อ (reinsurance) ไว้ในต่างประเทศ และทำ Stress Test มาตลอด

“ถ้าพูดถึงภาพรวมที่เกิดขึ้นเวลานี้ เรามีดัชนีวัดความมั่นคงบริษัทประกันภัยที่เรียกว่า CAR Ratio คือต้องเกินกว่า 100% และเราพบว่าของประกันชีวิตเกิน 300% ประกันวินาศภัยแข็งแกร่งใกล้เคียงกันเกือบ 300% และยืนยันว่า สภาพคล่องทางการเงิน ธุรกิจประกันภัยยังดีมาก มีความแข็งแกร่งมากๆ” ชูฉัตรกล่าว

คปภ.เปิดสายด่วน 24 ชม. 1186 ไขทุกข้อสงสัยผู้เคลมประกันภัยแผ่นดินไหว

ส่วนกรณีที่ 2 การช่วยเหลือประชาชน เลขาธิการคปภ.ยืนยันว่า ตั้งแต่เย็นวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ขอให้บริษัทประกันภัยทั้งหมดเตรียมพร้อมให้คำตอบสำหรับผู้เอาประกันภัย และกำหนดแนวปฏิบัติเรียกร้องค่าสินไหม

“ถ้ามีชื่อเข้ามาเมื่อไร ทุกบริษัทพร้อมตรวจสอบดูกรมธรรม์ทุกอย่าง และหากมีการแจ้งผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิต บริษัทก็พร้อมติดต่อญาติผู้ประกันภัย หรือผู้ประกันภัยมาขอเคลม ก็พร้อมจะจ่ายเคลมให้ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ และคปภ.เปิดสายด่วน 1186 ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกันภัยที่ได้รับผลกระทบตลอด 24 ชั่วโมง” ชูฉัตร กล่าว

ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับรายงานมีอาคารเสียหายได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทางสำนักงานคปภ.ภาค 1 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทั้งเชียงใหม่และเชียงราย ร่วมกับบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยตั้งศูนย์ฯ ตั้งแต่เช้าวันเสาร์ที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ประสานหน่วยงานจังหวัดและองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ทำประกันภัย

คปภ.ทำงานร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยและสมาคมประกันชีวิตไทยอย่างใกล้ชิด กรณีได้รับการแจ้งเคลม ก็ให้เตรียม surveyor (เจ้าหน้าที่สำรวจภัย) เข้าไปสำรวจความเสียหายของตึกผู้มีประกันภัย ซึ่งดูจากข้อมูลของแพลตฟอร์ม Traffy Foudue ของ กทม.ก็ทราบว่ามีมากกว่า 5,500 แห่ง ที่ต้องการมีวิศวกรเข้าไปสำรวจพื้นที่

สมาคมประกันชีวิตไทยลั่นทำงาน Pro-active เช็กรายชื่อผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บแจ้งสิทธิความคุ้มครอง

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีสมาชิกกว่า 20 บริษัท และทุกบริษัทพร้อมตั้งรับการสถานการณ์แบบนี้ หลายบริษัทมี Call Center มีศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ มีบริการผ่านทาง LINE เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก เพื่อสื่อสารกับลูกค้าทุกช่องทาง ตลอด 24 ชั่วโมง

สมาชิกสมาคมประกันชีวิตไทย รับประกันชีวิตและประกันส่วนควบ ซึ่งคือประกันสุขภาพ หากเจ็บป่วยเรื่องใดก็สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ รายเดี่ยวและรายกลุ่ม

“เรา pro-active ที่จะเวิร์กกับคปภ.และติดตามข่าวสารตลอดว่า มีบริษัทใดไปเกี่ยวข้องกับอาคารที่ถล่มลง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาหลัก หรือผู้รับเหมารอง หรือผู้รับจ้าง ๆ เราก็พยายามเช็กชื่ออยู่ว่า บริษัทเหล่านี้ทำประกันกลุ่มกับบริษัทประกันชีวิตใด เบื้องต้นตอนนี้ยังไม่เจอ และเรายังเช็กต่อเนื่อง ถ้าทราบรายชื่อผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตก็จะ pro-active ที่ตรวจสอบรายชื่อว่าอยู่กับบริษัทประกันชีวิตรายใด และจะเอื้อมมือไปถึงผู้เอาประกันภัย” นุสรา กล่าว

พร้อมย้ำว่า ภาคประกันชีวิตอยากให้ผู้ซื้อประกันทุกๆ คน ตรวจสอบให้ละเอียดว่ากรมธรรม์ของทุกท่านยังต่ออายุ ยังจ่ายเบี้ยประกันอยู่ อย่าปล่อยให้กรมธรรม์หยุดไป ยิ่งในยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล ถ้าเข้าไปใน LINE Official กรมธรรม์หลายบริษัทสามารถตรวจสอบได้เลยว่ากรมธรรม์ท่านมีสถานะเป็นอย่างไร และถ้าไม่ทราบช่องทางติดต่อ ก็ขอให้เข้าเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของสมาคมประกันชีวิตไทย หรือเบอร์โทรศัพท์ 02-679-8080

“บริษัทประกันชีวิตไทยมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และยังมีความแข็งแกร่งจากความผันผวนหากเกิดการเคลมยอดสูงๆ เราแข็งแกร่งให้ความมั่นใจกับทุกๆ คนได้” นุสรา

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ย้ำ “ภัยแผ่นดินไหว” กรมธรรม์ที่อยู่อาศัยคุ้มครองตามมาตรฐาน

สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ทุกบริษัทประกันวินาศภัยทั้งที่ใช่และไม่ใช่บริษัทรับประกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ทุกบริษัทจะทำหน้าที่รับเรื่องราวแล้วประสานงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุในครั้งนี้ ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยที่อยู่อาศัย โดยทั่วไปกรมธรรม์กลุ่มนี้ คปภ.ได้กำหนดความคุ้มครองมาตรฐานสำหรับภัยพิบัติที่เป็นมหันตภัย ที่รวมถึงภัยจากแผ่นดินไหวด้วย จะมีความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยมาตรฐานอยู่ โดยมีความคุ้มครองทุกภัยรวมกันไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีอยู่แล้ว และผู้สนใจสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2.2 ล้านฉบับ ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีจำนวน 3.1 ล้านฉบับ รวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 5.4 ล้านฉบับ

ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย
ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย

“ขอให้เจ้าของบ้านอาคารที่อยู่อาศัยมั่นใจว่า กรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยมีความคุ้มครองเรื่องนี้อยู่แล้ว และบริษัทประกันภัยทุกบริษัทมีความพร้อมชดใช้ค่าสินไหม โดยสมาคมประกันวินาศภัยจะกำหนดแนวทางร่วมกันให้ประชาชนผู้มีกรมธรรม์ประกันภัยสามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้สะดวก ซึ่งจะนำวิธีการแนวทางที่เคยทำในครั้งเกิดมหาอุทกภัยปี 2554 มาใช้ ให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงกำหนดราคาชดใช้ที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งหากผู้มีกรมธรรม์พอใจกับราคามาตรฐาน ก็สามารถรับค่าสินไหมได้ทันที แต่ถ้าเห็นว่าทรัพย์สินของท่านมีราคามากกว่าราคามาตรฐาน ก็สามารถให้บริษัทประกันภัยเข้าไปสำรวจความเสียหายแล้วแต่กรณีไป”

แจงประกัน "อาคารชุด" กับ "ห้องชุด" ต่างกันอย่างไร

ส่วนการประกันภัยอาคารชุด จะมีอีกกรมธรรม์ที่ชื่อ “กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน” หรือ IAR (Industrial All Risks) จะคุ้มครองความเสียหายของอาคารส่วนกลาง เช่น โครงสร้างอาคารส่วนกลาง บันไดอาคาร สระว่ายน้ำ ฟิตเนส หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นของส่วนกลาง ซึ่งกรมธรรม์ประเภทนี้คุ้มครองภัยแผ่นดินไหวอยู่แล้ว

สำหรับทรัพย์สินของเจ้าของห้องชุด ต้องมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในห้องชุด เช่น เฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นๆ ที่อยู่ภายในห้องชุดนั้นๆ

“การทำประกันภัยของอาคารชุด ปกติจะไม่รวมทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย ซึ่งผู้อาศัยอาจต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในห้องชุด ถ้ามีการทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว จะจำกัดการรับคุ้มครองมาตรฐาน 20,000 บาทต่อปีอยู่แล้ว”

ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย
ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย

นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันภัยที่อยู่อาศัย ก็จะขยายความคุ้มครองภัยจากน้ำ อย่างที่เห็นในภาพข่าว มีบางอาคารห้องชุดท่อแตก น้ำท่วม เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ทางเดิน ฝ้าอาคาร สิ่งเหล่านี้เป็นภัยจากน้ำที่มีการคุ้มครอง

ส่วนประกันอัคคีภัยของสถานประกอบการ ร้านค้าต่างๆ ก็มีการคุ้มครองแผ่นดินไหวอยู่แล้วส่วนหนึ่ง และซื้อเพิ่มเติมได้ ซึ่งเจ้าของสถานประกอบการต่างๆ ต้องตรวจสอบกรมธรรม์ที่มีอยู่ว่าได้ซื้อขยายการคุ้มครองเพิ่มเติมหรือไม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4.5 แสนฉบับ จังหวัดอื่นๆ อีก 6.6 แสนฉบับ รวมทั้งประเทศเป็น 1.14 ล้านฉบับ

“ยืนยันว่า ทุกบริษัทประกันภัยมีความมั่นคงและจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงของตนเองและทำประกันภัยต่อ (re-insurance) ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ต้องกังวล” สมพรกล่าว

ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย
ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย

ประกัน IAR ครอบคลุมอะไรบ้าง

ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน หรือ IAR (Industrial All Risks) สำหรับสถานประกอบการ กิจการร้านค้าทั่วไป สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการต่างๆ จะมีความคุ้มครองความเสียหายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง และโดยทั่วไปกรมธรรม์ประเภทนี้ไม่ได้ยกเว้นภัยแผ่นดินไหว ซึ่งหมายความว่าได้รับการคุ้มครอง

“กรมธรรม์ประกันภัยมี 2 กลุ่มหลักๆ คือ ระบุภัย เช่น ประกันภัยอัคคีภัย และหากต้องการการคุ้มครองเพิ่มเติมก็คือซื้อเพิ่มเติมได้ เช่น ไฟ แผ่นดินไหว หรือภัยต่างๆ ได้ อีกกลุ่มคือ All Risks คือคุ้มครองทุกอย่าง แต่มีกำหนดข้อยกเว้นความคุ้มครองไว้ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าเป็น IAR อาจมีกำหนด Sub Limit หรือจำกัดความรับผิดไว้ ซึ่งต้องดูแต่ละสัญญาประกันภัยกำหนดการรับผิดในแต่ละสัญญาอย่างไร”

นอกจากนี้ หลายธุรกิจทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักด้วย ซึ่งการคุ้มครองความเสียหายจะครอบคลุมความสูญเสียในทางการค้า หรือรายได้ของผู้ทำประกันภัย ซึ่งอยู่ที่ตกลงกันแต่แรก รวมถึงกำไรสุทธิ ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ซึ่งจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากความเสียหายจากภัยหลัก ในกรณีคือ ภัยแผ่นดินไหว หมายความว่า มีกรมธรรม์หลักที่มีการคุ้มครอง แล้วจึงจะได้ชดใช้ภัยธุรกิจหยุดชะงัก

ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย
ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย

กรณีที่มีคนสนใจกันมาขณะนี้ คือ กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง ซึ่งเป็นกรมธรรม์สำหรับผู้ว่าจ้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง มีความคุ้มครอง 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

  1. งานก่อสร้างและวิศวกรรมโยธา โดยทั่วไปกำหนดทุนประกันภัยทั้งโครงการ
  2. การติดตั้งเครื่องจักร มูลค่าของเครื่องจักรเป็นความคุ้มครองส่วนที่ 2
  3. ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล หรือสาธารณชนก็แล้วแต่

ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหวด้วย

ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย
ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย

อ่านข่าวการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงิน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/personal_finance


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney 


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)