3 กับดักทางการเงิน ที่ควรระวัง! จนทำให้เราไม่มีเงินเก็บ ซื้อของไม่คิด ผ่อนบัตรเครดิตระยะยาว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

3 กับดักทางการเงิน ที่ควรระวัง! จนทำให้เราไม่มีเงินเก็บ ซื้อของไม่คิด ผ่อนบัตรเครดิตระยะยาว

Date Time: 15 ม.ค. 2568 11:00 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • 3 กับดักทางการเงินที่ควรระวัง! จนทำให้เราไม่มีเงินเก็บ Lifestyle Inflation ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซื้อของตามอารมณ์ - ตามเทรนด์ กดบัตรเงินสด ผ่อนสินค้าดอกเบี้ย 0% รูดบัตรเครดิต เลือกผ่อนจ่ายระยะยาว สินทรัพย์เสื่อมแล้ว แต่เรายังผ่อนไม่หมด

Latest


เคยได้ยินไหม? โอกาสจะหายไป หากเราไม่มีเงินเก็บ! เพราะเราอาจพลาดโอกาสดีๆ ในชีวิต เช่น การลงทุน การซื้อทรัพย์สิน หรือการจับจ่ายใช้สอยในยามฉุกเฉิน

ร้ายสุดอาจเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ป่วย ถูกปลดออกจากงาน แบบไม่มี “เงินออม” ชีวิตไร้ซึ่งความมั่นคง

นี่คือตัวอย่างบางส่วนที่สะท้อนให้เห็นว่า การเงิน ชีวิต และความสุข - ความอิสระ เชื่อมโยงกันอย่างไร? ซึ่งการมีวินัยทางการเงินตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย และเริ่มต้นเก็บเงินเล็กๆ น้อยๆ จนเป็นนิสัย จะช่วยให้เรามีชีวิตที่มีความสุขและมั่นคงในอนาคตได้

อย่างไรเสีย กับดักสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่วางแผนการเงินไม่สำเร็จ เช่น เมื่อได้รับเงินเดือนขึ้น ก็รีบไปซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ รถยนต์คันหรู หรือไปเที่ยวต่างประเทศทันที โดยไม่ได้วางแผนการเงินล่วงหน้า ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ถูกเรียกว่า Lifestyle Inflation หรือการขยายตัวของไลฟ์สไตล์ตามรายได้

หมายถึง การที่เราปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นตามที่รายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงการออมเงิน หรือการลงทุน ซึ่งมักจะนำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัว และเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว

โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักจะนำเสนอไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา ฟุ่มเฟือย ทำให้คนเราอยากได้อยากมีตาม ซึ่งหากไม่ระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อของ Lifestyle Inflation ได้

ทำไม Lifestyle Inflation ถึงเป็นปัญหา?

  • หนี้สิน: การใช้จ่ายเกินตัวอาจนำไปสู่การเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งต้องใช้เวลาในการชำระหนี้เป็นเวลานาน
  • ขาดเงินออม: การไม่มีเงินออมจะทำให้เราไม่พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การตกงาน หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์
  • ไม่บรรลุเป้าหมาย: การใช้เงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น จะทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว เช่น การซื้อบ้าน หรือการเกษียณอายุ

ปัจจัยที่ส่งเสริม Lifestyle Inflation ในไทย

  • การตลาด: บริษัทต่างๆ ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นการสร้างความต้องการในการบริโภค
  • สื่อโซเชียลมีเดีย: การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดความต้องการอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น
  • วัฒนธรรมการบริโภค: สังคมไทยให้ความสำคัญกับการมีทรัพย์สิน และการแสดงออกทางสังคม

วิธีหลีกเลี่ยง Lifestyle Inflation

- ตั้งงบประมาณ: กำหนดงบประมาณรายเดือน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ออมเงินก่อนใช้: พยายามออมเงินอย่างน้อย 10-20% ของรายได้
- หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น: โฟกัสไปที่เป้าหมายของตัวเอง
- เรียนรู้การลงทุน: นำเงินที่ออมมาลงทุนเพื่อให้เงินทำงานให้เรา
- ช้อปปิ้งอย่างมีสติ: ก่อนซื้ออะไร ควรพิจารณาให้ดีว่าจำเป็นหรือไม่

ข้อมูลเผยแพร่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แนะ “คนรุ่นใหม่” หรือแม้แต่คนทั่วไป ว่าถ้าอยากมีเงินเก็บ ต้องระวังกับ 3 กับดักทางการเงิน ดังนี้

1. การใช้บัตรเครดิตที่มาพร้อมกับดอกเบี้ยสูง 16% ต่อปี / ค่าธรรมเนียมการกดเงินสด 3% + VAT 7% ซึ่งหากจ่ายไม่ไหวอาจกระทบต่อประวัติเครดิตบูโร

พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้บัตรเครดิตซื้อของเกินความจำเป็น, จ่ายขั้นต่ำแทนที่จะจ่ายเต็มจำนวน และใช้บัตรเครดิตกดเงินสด โดยวิธีป้องกันนั้น สามารถทำได้ด้วยการจ่ายยอดบัตรเครดิตเต็มทุกเดือน และตั้งงบประมาณใช้จ่ายไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้

2. ซื้อของด้วยอารมณ์ เช่น ช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด, ซื้อของตามเทรนด์ และซื้อของลดราคาทั้งที่ไม่จำเป็นหรืออยากได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะทำให้เงินออมเราลดลง และมีของที่ไม่จำเป็นสะสม จนท้ายที่สุด อาจเกิดความเครียดจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น วิธีควบคุมที่ได้ผลนั้น ธปท. แนะว่า ลองให้เวลาตัวเองสัก 1-2 วัน ก่อนตัดสินใจซื้อ และตั้งงบประมาณสำหรับการช้อปปิ้งในแต่ละเดือน

3. การผ่อนชำระยาวนาน โดยการผ่อนสินค้าดอกเบี้ย 0% หลายๆ ชิ้น เช่น การผ่อนรถยนต์ดาวน์ต่ำ ระยะเวลา 72-84 เดือน เพราะสิ่งที่ตามมาคือ การต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมที่สูงมาก, ภาระผูกพันระยะยาว กระทบการวางแผนทางการเงิน ขณะมูลค่าสินทรัพย์ลดลง แต่เรายังผ่อนไม่หมด วิธีแก้ไขเรื่องนี้นั้น ต้องวางแผนเก็บเงินก่อนซื้อ และเลือกระยะเวลาผ่อนที่สั้นที่สุดเท่าที่จะจ่ายไหว รวมไปถึงอย่าลืมคำนวณภาระดอกเบี้ยรวมก่อนตัดสินใจซื้อด้วย

ที่มา: ธปท.

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ