เปิดเทคนิคบริหาร “เงินโบนัส” ใช้ให้คุ้มค่ากับที่เหนื่อยมาทั้งปี ได้ทั้งรางวัลชีวิตและความมั่นคง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดเทคนิคบริหาร “เงินโบนัส” ใช้ให้คุ้มค่ากับที่เหนื่อยมาทั้งปี ได้ทั้งรางวัลชีวิตและความมั่นคง

Date Time: 22 ธ.ค. 2567 08:28 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • นักวางแผนการเงิน เปิดเทคนิคบริหาร “เงินโบนัส” ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า กับที่เหนื่อยมาทั้งปี

Latest


ใกล้สิ้นปีแบบนี้ หลายคนคงกำลังตั้งตารอ “เงินโบนัส” ที่เปรียบเสมือนรางวัลตอบแทนความทุ่มเทตลอดปีที่ผ่านมา แต่เคยสงสัยไหมว่า เราจะใช้เงินก้อนนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ทั้งสามารถเติมพลังใจให้ตัวเอง พร้อมสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวไปพร้อมกัน

ในครั้งนี้ “Thairath Money” จะพาไปส่องเทคนิคการบริหารเงินโบนัส จากนักวางแผนการเงิน ที่จะช่วยเปลี่ยนเงินโบนัสให้เป็นมากกว่าแค่ "เงินใช้แล้วหมดไป" และสามารถนำเงินก้อนนี้ไปทำให้เรามี #การเงินดีชีวิตดี ได้เร็วขึ้น!

ราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน CFP® เผยแพร่บทความเรื่อง “เทคนิคบริหารเงินโบนัส” ผ่านเว็บไซต์ของสมาคมนักวางแผนการเงินไทย โดยแนะนำว่า ให้แบ่งเงิน 10-20% ของเงินโบนัส เพื่อเป็นรางวัลให้กับชีวิต เพื่อเป็นการเติมพลังให้กับชีวิต ทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป แต่ก็ไม่ควรเปย์มากเกินไปเพราะเป็นเงินส่วนที่ใช้แล้วหมดไป แม้ส่งผลดีต่อจิตใจ แต่ไม่ช่วยลดต้นทุนหรือทำให้เงินงอกเงยได้ในอนาคต

ขณะเดียวกัน ควรลองเช็กหนี้สินที่มีอยู่ ว่ามีหนี้ไหนคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกบ้าง มียอดหนี้เหลืออยู่เท่าไร ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยกี่ % ต่อปี พร้อมทั้งเรียงลำดับจากหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดและหนี้คงเหลือน้อยที่สุดก่อน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต หนี้บ้าน ฯลฯ

หากมีหนี้ไหนที่ดอกเบี้ยสูงกว่า 10% ต่อปี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต ควรนำเงินโบนัสส่วนใหญ่ เช่น 50-70% ของโบนัส ไปเร่งปิดหนี้ส่วนนี้ เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้อนาคตสามารถเก็บเงินได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินช่วยให้อุ่นใจได้ว่าจะมีเงินไว้รองรับกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ทำให้สามารถใช้ชีวิตไว้อย่างสบายใจและโฟกัสกับการทำงานได้มากขึ้น รวมถึงยังเพิ่มความมั่นใจได้ว่าเงินเก็บส่วนที่เกินกว่าเงินสำรองนั้น สามารถนำไปลงทุนในทางเลือกที่มีพันธะด้านระยะเวลาลงทุน เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุน Term Fund หรือมีความเสี่ยงที่มากขึ้นได้ เช่น กองทุนผสม หุ้น กองทุนหุ้น รวมถึงกองทุน SSF/RMF เป็นต้น

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่ดี ควรมีจำนวนให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 6 เดือน ในทางเลือกที่พร้อมถอนหรือนำออกมาใช้จ่ายได้ทันเวลา เช่น เงินฝากที่โอนเงินผ่านมือถือ ถอนผ่านตู้ ATM/สาขาธนาคารได้ทันที หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ขายคืนและได้รับเงินคืนภายใน 1 วันทำการถัดจากวันที่ขายคืน ฯลฯ

โดยปัจจุบันทางเลือกเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่น่าจะตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ คือ เงินฝาก e-Savings ที่หลายธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.5% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนที่ผ่านมาของกองทุนตราสารหนี้หลายกองทุน ทั้งยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าและมีความคล่องตัวในการถอนหรือโอนมากกว่าด้วย

นอกจากนี้ ควรทยอยสร้าง Passive Income หรือแหล่งรายได้ที่มั่นคงโดยไม่ต้องออกแรงทำงาน เริ่มต้นได้ไม่ยาก แต่หากจะให้มีจำนวนเพียงพอกับการใช้จ่ายโดยเฉพาะช่วงหลังเกษียณอายุ คงไม่สามารถทำได้ทันที แต่สามารถทยอยเริ่มได้ทีละน้อย และสะสมจนเพียงพอกับการใช้จ่ายในที่สุด เช่น ประกันบำนาญ, พันธบัตร/หุ้นกู้

อย่างไรก็ตาม อีกวิธีหนึ่งที่สำคัญคือการลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย จำเป็นต้องลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยง แต่หลายคนยังกังวลกับความเสี่ยงนั้น จึงเลือกที่จะเก็บเงินหรือลงทุนในทางเลือกความเสี่ยงต่ำที่เน้นความปลอดภัยของเงินต้น อย่างไรก็ตามเงินโบนัสเป็นเงินที่ได้มาปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินที่แบ่งจากเงินโบนัสเพื่อนำไปลงทุน จึงสามารถเป็นเงินที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่าเงินเก็บส่วนอื่น

โดยอาจแบ่ง 10-30% ของเงินโบนัส ไปลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น ในภูมิภาคหรือธีมการลงทุนที่ชื่นชอบ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือเลือกลงทุนในกองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนหุ้น/ผสม เพื่อผลประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมได้

เงินโบนัส ถือว่าเป็นรางวัลตอบแทนจากการทำงานด้วยความเหนื่อยล้ามาทั้งปี ที่ต้องจัดสรรให้ดี เพื่อเป็นรางวัลให้กับตนเอง ด้วยเทคนิคการบริหารที่เหนือล้ำเพื่อให้มีเงินมากขึ้นได้ในอนาคต


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ