“ดอกเบี้ยบ้าน” ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 1แสนบาท กู้ร่วม เฉลี่ยตามจำนวน เปิดขั้นตอน ก่อนยื่นภาษี 2567

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“ดอกเบี้ยบ้าน” ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 1แสนบาท กู้ร่วม เฉลี่ยตามจำนวน เปิดขั้นตอน ก่อนยื่นภาษี 2567

Date Time: 19 ธ.ค. 2567 15:31 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • “ดอกเบี้ยบ้าน” ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 100,000 บาท กู้ร่วม เฉลี่ยตามจำนวนคน บ้านหลังที่ 2 ก็มีสิทธิ์ เปิดตัวอย่าง และ ขั้นตอนการแจ้งสิทธิ์ เตรียมพร้อมยื่นภาษี ปี 2567 ช่วงต้นปี 2568

การเสียภาษี ถือเป็นหน้าที่สำคัญของพลเมืองทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องชำระ “ภาษีเงินได้” ในทุก ๆ ปี อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเองก็มี “มาตรการลดหย่อนภาษี” ไว้เป็นตัวช่วย เพื่อลดภาระและส่งเสริมการใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ที่กำหนด 

โดยสามารถนำรายการใช้จ่ายบางอย่างตามที่กำหนดไว้ มาลดหย่อนเพิ่มเติมได้ หลายคนอาจคุ้นเคยกับการลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันชีวิต หรือการลงทุนในกองทุนรวมบางประเภท 

แต่มีอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามสำหรับคนที่กำลังผ่อนบ้าน นั่นคือ “ค่าดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย” หรือ ดอกเบี้ยบ้าน ที่เราจ่ายรวมอยู่ในค่างวดผ่อนบ้านแต่ละเดือน ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร

สำหรับคนที่กำลังผ่อนบ้านอยู่กับสถาบันการเงินที่ประกอบกิจการภายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ หรือคอนโด สามารถนำ “ดอกเบี้ยบ้าน” ไปลดหย่อนได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่อาศัยครบปี โดยนำมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่จ่ายจริง รวมแล้วสูงสุดไม่เกินปีละ 100,000 บาท 


ขณะหากมีการกู้เพื่อซื้อบ้านมากกว่า 1 หลัง ยังสามารถนำมายื่นขอลดหย่อนได้ทุกหลังเช่น หากมีบ้าน 2 หลัง หลังที่ 1 มีจ่ายดอกเบี้ยไปทั้งหมด 50,000 บาท หลังที่ 2 มีจ่ายดอกเบี้ยไปทั้งหมด 60,000 บาท สามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนได้ 100,000 บาท ถึงแม้ดอกเบี้ยจ่ายจริงจะอยู่ที่ 110,000 บาทก็ตาม 

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่นำมาลดหย่อนได้นั้นต้องมาจากสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด หรือการสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง และต้องมีการจดจำนองบ้าน คอนโด หรือบ้านพร้อมที่ดินนั้น ๆ เป็นหลักประกันในการกู้ยืมด้วย

 หากบ้านที่อาศัยอยู่ มีผู้กู้ร่วมด้วย สิทธิ์ลดหย่อนจะเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม โดยไม่จำเป็นว่าผู้กู้ร่วมจะมีเงินได้หรือไม่ หรือจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านนี้ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยมีสูตรคำนวณ ดอกเบี้ยบ้านทั้งหมด สูงสุด 100,000 บาท ÷ จำนวนผู้กู้ร่วม เช่น จ่ายดอกเบี้ยบ้านไปจริง 100,000 บาท โดยมีผู้กู้ร่วมกัน 2 คน ผู้กู้ร่วมจะได้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน คนละ 100,000 ÷ 2 = 50,000 บาท (แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีคนที่จ่ายค่างวด หรือจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าก็ตาม)

เปิดขั้นตอนการแจ้งสิทธิ์ลดหย่อนภาษี "ดอกเบี้ยบ้าน"

ในปัจจุบันขั้นตอนการยื่นและขอข้อมูลเพื่อนำดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีนั้น ไม่ยุ่งยากอีกต่อไป เพียงแค่ให้คำยินยอมกับธนาคาร เพื่อแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้ ในการส่งข้อมูลดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่กรมสรรพากร หลังจากนั้นทางธนาคารก็จะดำเนินการจัดส่งข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปอยู่ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรโดยตรง 

ลูกค้าใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอกข้อมูลเอง เพิ่มความสะดวกในการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี และลดความยุ่งยากเรื่องเตรียมและยื่นเอกสาร (ธนาคารยังคงจัดส่งเอกสารรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย. 02) ให้แก่ลูกค้าตามปกติ

สำหรับเงินลดหย่อนที่ได้รับจากดอกเบี้ยบ้านนั้น อาจจะทำให้จำนวนเงินที่เสียภาษีลดน้อยลง หรือได้รับเงินคืนในกรณีที่รายได้ที่ได้รับนั้นมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว เราสามารถนำเงินก้อนนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ด้วยการนำไปลดเงินต้นของสินเชื่อบ้านได้ด้วยการโปะค่างวดบ้าน 

ซึ่งจะช่วยให้ลดดอกเบี้ยลงเพราะสินเชื่อบ้านคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก และช่วยให้คุณเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นได้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีชีวิตทางการเงินดีขึ้นได้ในทุกมิติ

ที่มา : ttb 

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ