ยังคงเป็นมาตรการแก้หนี้ที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและ “ไม่เห็นด้วย” สำหรับโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ลงทะเบียนแก้หนี้ ช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก
รวมถึงช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อเปลี่ยนสถานะจากหนี้เสียเป็นปิดจบหนี้ เริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิจัยด้านนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) “วราวิชญ์ โปตระนันทน์” ให้ความเห็นว่า โครงการช่วยเหลือแก้หนี้คนไทยดังกล่าว อาจไม่ยั่งยืนและเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
จากต้นเหตุของปัญหาหยั่งรากลึกที่มาจากพฤติกรรมและทัศนคติของลูกหนี้คนไทย ทั้งวิธีการเลือกสินเชื่อที่ไม่เหมาะสม และการประมาณการภาระที่เกิดจากดอกเบี้ยเงินกู้แบบทบต้นต่ำกว่าความเป็นจริง และคนไทยยังมีปัญหาในการจัดการรายได้และรายรับ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายควรนำไปพิจารณาและออกแนวทางแก้ปัญหาให้ตรงจุด
นักวิจัย TDRI ชี้ว่า ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 “หนี้ครัวเรือนไทย” ทรงตัวอยู่ในระดับสูงถึง 89.6% ของ GDP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่คาดว่าจะไม่สร้างรายได้
ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติพบข้อมูลปีที่แล้วว่าเกือบครึ่งหนึ่งครัวเรือนไทย (47.9%) มีภาระหนี้สิน โดยส่วนมาก (45.6% ของครัวเรือนทั้งหมด) มีหนี้ในระบบ และมีครัวเรือนในสัดส่วน 3.6% ที่มีหนี้นอกระบบ รวมหนี้สินรวมกันเฉลี่ยครัวเรือนละ 197,255 บาท ชัดเจนว่าหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรังของประเทศ
โดยที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนมีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และป้องกันการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นมามากมาย ขณะโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่เริ่มเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา
ทั้งมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” และมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่างวด พักดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ที่มีสถานะคงค้างแก่ลูกหนี้ในระบบของสถาบันการเงิน 1.9 ล้านรายนั้น
เข้าข่ายจัดอยู่ในกลุ่มมาตรการพักหนี้ที่ข้อกังวลบางประการ เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือมีลักษณะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และส่งเสริมให้ลูกหนี้เคยชินกับการรอรับความช่วยเหลือโดยไม่พยายามแก้ปัญหาเอง
ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่พบว่ามาตรการ เช่น การพักชำระหนี้ให้เกษตรกร แม้ว่าจะช่วยลดโอกาสผิดนัดชำระหนี้อื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าพักหนี้
แต่ยิ่งทำให้ลูกหนี้สะสมหนี้ใหม่ขึ้น ส่วนดอกเบี้ยของหนี้ที่พักไว้ก็ยังวิ่งและนำไปปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้ ขณะที่ภาระการจ่ายหนี้ที่ลดลงกลับไม่ได้ไปเพิ่มเงินออมของลูกหนี้
ดังนั้นแม้ความช่วยเหลือเช่นนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ในระยะสั้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง ๆ แต่ในระยะยาวมาตรการเหล่านี้ย่อมขาดความยั่งยืน และอาจทำให้ลูกหนี้กลับสู่วงจรหนี้ได้โดยง่าย
ประเด็นที่สำคัญและควรนำไปสู่การแก้ปัญหาคือ ปัญหาพื้นฐานสำคัญ “พฤติกรรมทางการเงิน” ของลูกหนี้ เพราะการส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพียงอย่างเดียว ที่หลายหน่วยงาน แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยทำอยู่ ก็อาจไม่ตอบโจทย์ผู้ที่กำลังจมอยู่กับภาระหนี้มหาศาลอยู่เป็นทุนเดิม และต้องการหาทางออกอย่างเร่งด่วน
จึงมีความจำเป็นในการหามาตรการเพื่อการจัดการหนี้ที่ครอบคลุมทั้งการบรรเทาภาระทางการเงิน และการปรับพฤติกรรมทางการเงินของลูกหนี้ด้วย
จากการสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของลูกหนี้ก่อนที่จะได้เข้าโครงการกับโนบูโร ของ TDRI ก่อนหน้า พบว่า “จุดบอด” สำคัญคือ ผู้มีหนี้ “รู้แต่ไม่ทำ” ในเรื่องการเงิน โดยมีคะแนนความรู้ทางการเงินในระดับสูง รวมมีคะแนนเฉลี่ย 68.95% ของคำถามทั้งหมด
มีความเสี่ยงในการเลือกสินเชื่อที่ไม่เหมาะสม หรือประมาณการดอกเบี้ยเงินกู้แบบทบต้นต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ด้านวินัยทางการเงิน การจัดการรายได้-รายจ่าย การออม รูปแบบการบริหารจัดการหนี้จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยในหมวดนี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 32.08% เท่านั้น
จุดอ่อนที่เด่นชัดคือการไม่ทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำ การชำระหนี้บัตรเครดิตเพียงขั้นต่ำ และการขาดการวางแผนออมเพื่อการเกษียณ
“ผู้มีหนี้มักมีปัญหาในการลงมือวางแผนทางการเงินที่ต้นเหตุก่อนที่ปัญหาภาระทางการเงินจะบานปลายมาจนถึงวันนี้”
ทั้งนี้ นักวิจัย TDRI สรุปด้านท้ายว่า แม้มาตรการพักหนี้จะเป็นยาวิเศษหนึ่งที่ช่วยแก้หนี้ให้กับผู้เข้าโครงการได้ แต่ก็ไม่ใช่ “ยาครอบจักรวาล” ที่รักษาปัญหาหนี้ให้ได้กับทุกคน
การให้ความรู้พร้อมทุนแก่ลูกหนี้คือหลักคิดที่น่าผลักดันต่อให้การแก้หนี้ของคนไทยมีความยั่งยืนมากขึ้น ขณะ “โนบูโร” ถือเป็นโมเดลหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำหนดนโยบายปรับมุมคิดเรื่องการแก้หนี้ใหม่ โดยเริ่มจากการตัวของลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ “สู้” เราก็ควร “ช่วย” ด้วยวิธียั่งยืนและไม่ปล่อยให้เคยชินกับการรับความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney