ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว การปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วของโลกดิจิทัล และกฎเกณฑ์ใหม่ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การแข่งขันในระบบธนาคารรุนแรงขึ้น ทุกธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องปรับตัว และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” เป็นหนึ่งในธนาคารลำดับต้นๆที่ประกาศก้าวสู่การเป็นธนาคารดิจิทัล และมีเป้าหมายไปสู่ความยั่งยืน
และจากผลประกอบการ 9 เดือนแรกที่มีกำไรสุทธิ 38,564 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการเติบโตทั้งผลกำไร รายได้ดิจิทัล และรายได้การบริหารความมั่งคั่ง ทำให้ไทยพาณิชย์เชื่อมั่นว่าการวางกลยุทธ์การปรับโครงสร้างธนาคาร ในช่วงที่ผ่านมาทำได้ตามเป้าหมาย
“ถ้านับตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้ามาวันนี้ (28 พ.ย.) ครบรอบ 850 วัน ในฐานะซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์ พันธกิจของธนาคารยังไม่เคยเปลี่ยน คือ การก้าวสู่การเป็น Universal Digital Banking ภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with human touch ซึ่งเป้าหมายนี้จะต่อเนื่องไปในช่วง 5–10 ปีข้างหน้า” นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึง “ทิศทางของธนาคารไทยพาณิชย์ในระยะข้างหน้า”
กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ซึ่งเป็นการผสานความใส่ใจของพนักงาน และประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ได้ช่วยสร้างผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3.1% อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) 12.1% สูงที่สุดเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (D-SIBs) มีต้นทุนต่อรายได้ที่ 36.7% ต่ำที่สุดใน D-SIBs พร้อมกันนั้นยังได้เดินหน้าเรื่องความยั่งยืนด้วยการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนกว่า 134,000 ล้านบาท ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมาย 150,000 ล้านบาทที่ตั้งไว้ในปี 2568
“ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในปีนี้มีผลงานโดดเด่นมาก โดยรายได้การบริหารความมั่งคั่งเติบโต 19% ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการในส่วนการลงทุนเติบโต 11% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เติบโต 1.5%”
ทั้งนี้ จากมาตรวัดต่างๆในผลประกอบการ 9 เดือนแรก นายกฤษณ์ ยังแสดงให้เห็นพัฒนาการด้านดิจิทัลแบงก์ที่ดีขึ้นด้วย โดยรายได้จากช่องทางดิจิทัลต่อรายได้รวมได้เพิ่มขึ้นสู่ 15% จาก 7% ในปี 2566 และตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปีหน้า ซึ่งที่ผ่านมาไทยพาณิชย์ได้นำ AI มาใช้ในงานสำคัญหลายด้าน เช่น การใช้ AI อนุมัติสินเชื่อรายย่อย ใช้ในการติดตามหนี้ และการทำนายแนวโน้มสินเชื่อที่จะกลายเป็นหนี้เสียเพื่อแจ้งเตือนพนักงาน
นอกจากนั้นยังใช้ AI เพิ่มขีดความสามารถในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการแบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization) รวมถึงการใช้ AI เสริมประสิทธิภาพให้กับพนักงานดูแลลูกค้าและบริการสาขา ซึ่งส่งผลให้การเปลี่ยนกระบวนการการทำงานจากอัตโนมือสู่อัตโนมัติได้มากกว่า 1,000 กระบวนการ ขณะที่เร่งลงทุนระบบหลักของธนาคาร (Core Bank) บนระบบคลาวด์ เพื่อวางรากฐานสู่ธนาคารแห่งอนาคต
“ในปีหน้าอุตสาหกรรมธนาคารมีความท้าทายต่อเนื่อง โดยปีนี้เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.7% แต่ปีหน้าการขยายตัวเพียง 2.4% โดยปัจจัยที่สร้างความกังวล นายกฤษณ์กล่าวว่า มี 3 เรื่อง คือ 1.ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป กระทบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทยให้เปลี่ยนไปด้วย หากมองก่อนโควิด 5 ปี และหลังโควิด 5 ปี จะเห็นว่าจีดีพีไทยก่อนโควิดโตลดลง อยู่ที่ 3% แต่หลังโควิดแม้จะกลับมาโต แต่เป็นการโตที่ต่ำกว่า 3% ด้านการค้าโลกคาดว่า ไทยจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดี ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ให้ลดลงประมาณ 0.5%”
เรื่องที่ 2 มาที่ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย คือ รายได้คนไทยยังไม่กลับมา แต่มีหนี้สูง ทำให้มีลูกหนี้ที่ยังฟื้นตัวไม่ได้ มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น และอีกปัจจัยที่ห่วงคือ การดูหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ลดลงในขณะนี้ยังดูแค่หนี้ในระบบเท่านั้น แต่หากรวมหนี้นอกระบบ เชื่อว่าหนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นสูงกว่า 100% และเรื่องที่ 3 คือ เทรนด์ AI และกฎกติกาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนในระบบการเงินไทย
“คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง 1 ครั้ง ในเดือน ก.พ. มาอยู่ที่ 2% แต่ก็ไม่ได้เป็นดอกเบี้ยที่ทำให้ธนาคารกลับมาปล่อยสินเชื่อ หรือลูกหนี้กู้เพิ่มจำนวนมากจนตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใน 3 ไตรมาสแรก ไทยพาณิชย์ยังคงปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง แต่เราต้องเลือกคนใหม่ที่จะ เข้ามาอย่างเหมาะสม ปล่อยสินเชื่อแล้วจะได้คืน ซึ่งกลุ่มที่ยังปล่อยสินเชื่อได้ คือ คนที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน สินเชื่อบ้านในราคาที่สูง เอสเอ็มอีที่ตอบโจทย์การฟื้นตัว แต่ภาคที่ทุกธนาคารจะปล่อยมากที่สุดคือสินเชื่อรายใหญ่ ซึ่งจะต้องมีการแข่งขันมากขึ้นในเรื่องราคา”
“ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าหมายที่จะใช้ยุทธวิธี AI-First Bank เป็นเครื่องยนต์หลัก นำ AI เข้ามาขับเคลื่อนองค์กรอย่างสมบูรณ์ ผสานการให้บริการด้วยมิตรภาพ ความใส่ใจ มีลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และภายใต้การลงทุนระบบ และทรัพยากรบุคคล เราสามารถสู้ได้ทั้งกับธนาคารเก่า และ Virtual Bank เพราะเรามีทั้งคน ทั้งเครื่อง ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่ต้องการความทันสมัย และการให้บริการโดยพนักงานที่ใส่ใจเข้าใจลูกค้า”
ในปี 2568 ธนาคารได้วางแผนปรับทิศทางธุรกิจภายใต้หลัก “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” ใน 3 แนวทางคือ 1.การปรับโครงสร้างให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยใช้การรวมศูนย์ข้อมูลของลูกค้าแต่ละรายในการให้บริการ การพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ และช่องทางดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อมอบประสบการณ์ไร้รอยต่อให้เกิดขึ้นจริง 2.วางรากฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่งครอบคลุมทั้งองค์กร และ 3.การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้โจทย์เร็ว ดี มีนวัตกรรม
“การให้บริการลูกค้าให้สอดคล้องกับมูลค่าทางเศรษฐกิจและความพึงพอใจของลูกค้า รวมทั้ง จะต้องมีกลยุทธ์การใช้คนและดิจิทัลที่แตกต่างกัน ซึ่งภายใต้ระบบปฏิบัติการใหม่ที่จะเสร็จปีหน้า จะตอบโจทย์การพัฒนาประสิทธิภาพคนทำงานให้สอดคล้องกับการใช้ AI เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้ตอบสนองลูกค้าได้ทันทีที่เข้ามาใช้บริการ รวมทั้งตั้งใจให้ปรับธุรกรรมที่เคยทำที่สาขา ให้มาทำได้ใน SCB EASY 340 ธุรกรรม จากขณะนี้ทำได้ 100 ธุรกรรม”
นายกฤษณ์กล่าวต่อว่า เราจะรักษา ROE ไว้ในระดับสองหลัก ขณะที่ลดต้นทุนต่อรายได้ที่ 36.7% ในปีนี้ลงเหลือ 35% และจะพยายามลดลงให้ต่ำกว่า Virtual Bank ซึ่งมีต้นทุนต่อรายได้ 30% ซึ่งเราสามารถสู้ได้ภายใต้จุดแข็งของเราในการสร้างสมดุลของต้นทุนและการให้บริการ และหลังจากนี้ 2 ปีเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
เป้าหมายในระยะสั้น คือ การเป็นธนาคารอันดับ 1 ในใจของคนไทย โดยจากดัชนีชี้วัดความพึงพอใจและความผูกพันกับแบรนด์ของผู้บริโภค (NPS Score) ในกลุ่มธนาคาร ในปีนี้กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเราได้อันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และมีข่าวดีว่ากลุ่มลูกค้ารายใหญ่เราได้อันดับ 1 เช่นกัน แต่ในส่วนของลูกค้ารายย่อย และธุรกิจบริหารความมั่งคั่งยังได้อันดับ 2 ซึ่งเราพยายามให้ปรับขึ้นในปีหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งหมด ทั้ง 4 กลุ่ม
“เราจำเป็นต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น และเหมาะสมตอบโจทย์ยิ่งขึ้น เมื่อเศรษฐกิจปีหน้าจะไม่ง่าย ไทยพาณิชย์จึงต้องเร่งการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้อยู่คู่คนไทยจากที่อยู่มาแล้วกว่า 100 ปีไปอีก 100 ปี” นายกฤษณ์กล่าว.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่