ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

Date Time: 21 ก.ย. 2567 09:32 น.

Summary

  • แบงก์ชาติยัน “ลดดอกเบี้ย” ต้องมาจากปัจจัยในประเทศ ไม่ลดตามสหรัฐฯ ยอมรับค่าบาทแข็งจากค่าเงินดอลลาร์อ่อน ผู้ว่าการ ธปท.ระบุมองหนี้ประเทศไทย ไม่ใช่แค่หนี้ครัวเรือน แต่ต้องมองภาระหนี้ในอนาคตที่ลูกหลานต้องแบกรับแทนด้วย โดยเฉพาะระดับนโยบาย

Latest

กกร. ถก ธปท. แก้ปญหาเอสเอ็มอี ลดเงินส่งกองทุนฟื้นฟู-เพิ่มทางเข้าถึงสินเชื่อ

แบงก์ชาติยัน “ลดดอกเบี้ย” ต้องมาจากปัจจัยในประเทศ ไม่ลดตามสหรัฐฯ ยอมรับค่าบาทแข็งจากค่าเงินดอลลาร์อ่อน ผู้ว่าการ ธปท.ระบุมองหนี้ประเทศไทย ไม่ใช่แค่หนี้ครัวเรือน แต่ต้องมองภาระหนี้ในอนาคตที่ลูกหลานต้องแบกรับแทนด้วย โดยเฉพาะระดับนโยบาย ชี้แบงก์ชาติที่เป็นอิสระจะช่วยดูแลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อได้ดีกว่าถูกครอบงำ และหาก รมว.ท่านใดอยากหารือพร้อมเดินทางไปพบ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 67 หัวข้อ “หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow” ว่า ปัจจุบันเห็นปัญหามากมายที่สังคมกำลังเผชิญ หนี้ครัวเรือนเพิ่มจาก 50% เป็น 90% ของจีดีพี ภายในเวลา 20 ปี ส่งผลให้ครัวเรือนไทยเปราะบางมากขึ้น โดย 38% ของคนไทยมีหนี้ในระบบเฉลี่ยคนละ 540,000 บาท ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่ก่อหนี้ช่วงโควิด กำลังเริ่มมีปัญหาชำระหนี้ และเป็นหนี้เสีย ขณะที่มีคนไทยเพียง 22% ที่มีเงินออม และเพียง 16% มีการออมเพื่อเกษียณอายุ

ในความคิดเห็นของ ธปท.คำว่า “หนี้” ไม่ได้จำกัดแค่หนี้ครัวเรือนหรือหนี้สาธารณะ แต่หมายถึงนโยบาย หรือการกระทำปัจจุบันที่มีผลกระทบหรือเป็นภาระในอนาคต เช่น การลงทุนรวมของไทยต่ำต่อเนื่องยาวนาน จากที่เคยโตเฉลี่ย 10% ต่อปีก่อนวิกฤติปี 40 เหลือเพียง 2% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยมีปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันและปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่สภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก “การตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นหลัก และไม่ให้ความสำคัญกับต้นทุนที่เกิดขึ้นในอนาคต เป็นการสร้าง “ปัญหาหนี้” ที่ในอนาคตหรือคนรุ่นหลังต้องมาชดใช้ ซึ่งทุกยุคทุกสมัยเมื่อนักการเมืองคิดทำนโยบายที่ดีในระยะยาวแต่สร้างผลกระทบระยะสั้นคนไม่ชอบ ก็จะกังวลว่าทำแล้วคนจะไม่เลือกจะไม่ได้กลับมาอีก”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า นอกจากการสร้างหนี้จากตัวเองแล้ว ยังมาจากกฎ กติกา แรงกดดัน และนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ไม่เอื้อให้คนมองอนาคต เช่น หนี้ครัวเรือน ซึ่งมาจากนิสัยการใช้จ่ายเกินตัว อีกส่วนเกิดจากประชาชนขาดรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ขาดระบบโครงข่ายรองรับทางสังคมที่ดีพอ รวมทั้งมีนโยบายสถาบันการเงิน หรือรัฐบาลช่วยให้ก่อหนี้ง่ายขึ้น เช่น นโยบายที่ให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากเกินไป ซึ่งงานวิจัยชี้ให้เห็นว่ากระทบต่อประเทศระยะยาว เช่น นโยบายพักหนี้เกษตรกรที่ทำวงกว้าง ต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ลูกหนี้กว่า 60% มีโอกาสเป็นหนี้เรื้อรัง และกว่า 45% มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารกลางทั่วโลกต้องการเห็นเศรษฐกิจ ขยายตัว แต่ต้องทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย แม้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำได้โดยให้ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้รวดเร็วระยะสั้น แต่ต้องแลกมาด้วยเงินเฟ้อ และอาจสะสมความเปราะบางจากการก่อหนี้เกินตัว หรือพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาวหรือนำไปสู่วิกฤติร้ายแรงได้ “หน้าที่มองระยะยาวของธนาคารกลาง จึงต้องมาพร้อมกับอิสระในการดำเนินงาน หลายครั้ง การทำหน้าที่ของธนาคารกลางจะสวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ กระทบเป็นวงกว้าง มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอ อาจทำให้เสียหลักการ สอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา เช่น งานวิจัยของไอเอ็มเอฟปี 66 พบว่า ประเทศที่ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระและน่าเชื่อถือ สามารถคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่าและประสบ ความสำเร็จในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ”

ส่วนที่หลายคนคาดหวังว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ยลงแรง 0.5% นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า เฟดไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ไทยจะต้องปรับลดดอกเบี้ยตาม โดยอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้นจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ คือ

1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

2.อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายหรือไม่

3.เสถียรภาพการเงิน ซึ่งตอนนี้ไม่ได้เห็นเงินเฟ้อเปลี่ยนไป ยังใกล้เดิมหรืออาจเข้าเป้าช้ากว่าเดิม ขณะที่ด้านเสถียรภาพการเงินเป็นสิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเห็นภาวะการเงินของคนที่ตึงตัวขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้สินเชื่อชะลอตัวลง

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอว่า ไทยควรลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ และทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงนั้น ผลต่อหนี้ครัวเรือนคือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายบนหนี้เก่าลดลง แต่อีกฝั่งทำให้หนี้ใหม่หรือสินเชื่อโตเร็วขึ้น หนี้เพิ่มขึ้น ต้องชั่งทั้ง 2 ด้าน ธปท.ไม่อยากเห็นหนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้น ในแง่เสถียรภาพคงไม่ดี แต่ไม่ได้อยากเหยียบเบรกแรง เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจเช่นกัน “ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยเฟด ทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นจากดอลลาร์ที่อ่อนค่า รวมถึงราคาทองสูงขึ้น ซึ่งช่วงที่ราคาทองสูง ค่าบาทจะแข็งตามด้วย เพราะมีความสัมพันธ์กันสูง ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน บาทแข็งค่าขึ้น 3.1% มาจากดอลลาร์ที่อ่อนค่า เฟดลดดอกเบี้ย แต่สิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็นคือ สิ่งที่ทำให้เกิดความผันผวน ไม่สะท้อนพื้นฐาน เช่น การเก็งกำไร เงินร้อนที่เข้ามา ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ ธปท.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด”

ส่วนกรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ จะมาหารือเรื่องเงินเฟ้อและค่าเงินบาทนั้น “ถ้าท่านต้องการพบ ผมต่างหากที่จะต้องไปพบท่าน”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ