นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สถาบันการเงินของรัฐเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ผ่านมาตรการด้านการเงิน ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยกระทรวงการคลัง เห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งเกษตรกร ประชาชนรายย่อย และผู้ประกอบการในพื้นที่ สามารถลดภาระต้นทุนและให้มีเงินทุนหมุนเวียน สามารถฟื้นฟูกิจการ ปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร โรงงาน เครื่องจักร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุดและไม่เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างต่อไป
สำหรับรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือของแต่ละสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารออมสิน มีมาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท และมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2 โครงการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำมาตรการพักชำระหนี้ กรณีหนี้ถึงกำหนดชำระหรือหนี้ค้างชำระ 0-3 เดือน ปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี รวมทั้งมีมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีมาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบันจะได้รับการลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 2% ต่อปี 6 เดือน และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับลูกค้าใหม่หรือลูกค้าปัจจุบันขอสินเชื่อเพิ่มเติมหรือสินเชื่อใหม่เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิมหรือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย ส่วนลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรืออยู่ระหว่างการประนอมหนี้จะได้รับการปลอดชำระดอกเบี้ยและเงินงวดใน 6 เดือนแรก
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะพักชำระหนี้เงินต้นให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของผลกระทบและลักษณะของธุรกิจแต่ละราย รวมทั้งมาตรการสินเชื่อเติมทุน ซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการผ่านโครงการ Smile Biz ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท และเปลี่ยนหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว 3 ปี และมาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว ขยายระยะเวลาเงินกู้สูงสุด 7 ปี
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) สำหรับกลุ่มลูกค้าเดิมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจะได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียม สำหรับลูกค้า บสย.ที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.- 31 ต.ค.67 เป็นระยะเวลา 6 เดือน และมาตรการพักชำระค่างวด ลูกหนี้ บสย.ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้และไม่ผิดนัดชำระหนี้สามารถพักชำระ 3 งวด
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการบรรเทาภาวะน้ำท่วมหนักในภาคเหนือ และกำลังต่อเนื่องมายังภาคกลาง ซึ่งส่งผลให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ประสบภัย ได้รับความเดือดร้อนและมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยในสัปดาห์นี้ ธปท.จะออกหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินภายใต้การกำกับเพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด
โดยจะมีการขอความร่วมมือและผ่อนผันเกณฑ์ใน 3 เรื่อง คือ 1.ให้สถาบันการเงินพิจารณาให้สินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมเพื่อการฟื้นฟูกิจการ การซ่อมแซมบ้านเรือนกับลูกหนี้ที่ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษ และให้เร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้เดิมเพื่อให้เกิดการยืดเวลาการชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ 2.สามารถพิจารณาลดเงินผ่อนส่งขั้นต่ำในส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิต ลดลงกว่า 8% ซึ่งเป็นขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนดได้เป็นเวลา 1 ปี และ 3.ผ่อนผันให้สามารถขยายวงเงินฉุกเฉินชั่วคราวเพื่อการดำรงชีพ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบุคคลดิจิทัล
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ธนาคารสมาชิกตระหนักถึงสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีพของลูกค้าในพื้นที่เป็นวงกว้าง ภาคธนาคารมีความห่วงใยพร้อมเคียงข้างผู้ประสบภัย จึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่น้ำท่วม ครอบคลุมการลดภาระผ่อนชำระหนี้สิน และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยได้ประสานธนาคารสมาชิกในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเร่งด่วน ซึ่งบางธนาคารได้มีมาตรการรองรับอยู่แล้ว ขณะที่ธนาคารอื่นๆพร้อมพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเหมาะสม โดยแต่ละธนาคารจะพิจารณาความช่วยเหลือให้สอดคล้องสถานการณ์ของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและดำรงชีพต่อไปได้อย่างปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาลูกค้าแต่ละรายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละธนาคารกำหนด ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่ธนาคารที่เป็นลูกค้า ผ่านทางสาขา เจ้าหน้าที่หรือฝ่ายงานที่ดูแลสินเชื่อ หรือ Call Center ของแต่ละธนาคารได้ทันที.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่