การแสดงวิสัยทัศน์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในงาน “Vision for Thailand 2024” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เนื่องจากเป็นการปรากฏตัวบนเวทีในประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 18 ปี หลังต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ปี 2549 นอกจากคนพูด คนมาฟังก็ยังสร้างความฮือฮา เพราะคลาคล่ำไปด้วยคนใหญ่คนโต ซุปเปอร์ “VVIP”
การแสดงวิสัยทัศน์ดังกล่าว มีประเด็นไฮไลต์สำคัญหลายประเด็น ที่รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน น่าจะต้องนำไปขับเคลื่อนต่อแบบ “พ่อคิด...ลูกทำ”
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือการปฏิรูประบบภาษีไทยสู่ระบบ Negative Income Tax (NIT) เพื่อดึงคนไทยทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับกระแสตอบรับทางบวกจากนักวิชาการ นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ จำนวนมาก อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นต้น
ความจริง Negative Income Tax ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยทำการศึกษาไว้เมื่อปี 2557 โดยได้รับมอบหมายจากหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในสมัยนั้น แต่ไม่ได้รับการหยิบจับขึ้นมาใช้ แค่ศึกษาไว้เฉยๆ
โดยผลงานวิจัยที่ สศค.ได้นำเสนอ ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีในหัวข้อ “เศรษฐกิจการคลังไทย : ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน” ภายใต้ชื่อ “เงินโอน แก้จน คนขยัน : Negative Income Tax” สามารถดาวน์โหลดไปศึกษากันได้ เพราะมีผลการศึกษาเปรียบเทียบไว้เกือบ 60 หน้า
แนวคิดในการจัดเก็บภาษี Negative Income Tax มาจากความพยายามสร้างระบบการจัดเก็บภาษีให้ง่าย ไม่ว่าจะรวย จะจน เมื่อมีรายได้ ต้องเข้าสู่ระบบภาษีด้วย โดยระบบ Negative Income Tax จะแตกต่างจากระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) ในปัจจุบัน
ภาษี Negative Income Tax กำหนดให้ประชาชนทุกคนที่มีรายได้ จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รัฐบาลจะโอนเงินสดช่วยเหลือให้ในรูปของระบบสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจ “เชิงบวก” ให้คนไทยเข้าสู่ระบบภาษี
ขณะที่ระบบภาษีในปัจจุบันจะมีลักษณะ “เชิงลบ” หากไม่ยื่นแบบภาษีเงินได้ ก็จะมีบทลงโทษทางอาญา มีค่าปรับ และมีขั้นตอน การยื่นเอกสารยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้คนไทยไม่อยากเข้าสู่ระบบภาษี จากจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน ในปี 2566 มีคนยื่นแบบเสียภาษี 11.52 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีจริงๆ 4-5 ล้านคน เพราะรายได้เกินเกณฑ์ ส่วนที่เหลือไม่เข้าข่ายเสียภาษี เพราะรายได้ ไม่ถึงเกณฑ์ และมีการหักลดหย่อน เป็นต้น
โดยหากจะนำระบบ Negative Income Tax มาใช้จริง ต้องแก้กฎหมาย คือ ประมวลรัษฎากร มาตรา 56 โดยปัจจุบันกำหนดให้บุคคลทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษี ก็ต่อเมื่อมีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หากรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ต้องยื่นแบบภาษี จึงต้องแก้ไขเป็นกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ตั้งแต่บาทแรก ต้องยื่นแบบภาษี
การยื่นแบบภาษีทุกคน จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลรายได้ของประชาชนทั้งประเทศ และการยื่นแบบภาษีทุกปี จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลรายได้ประชาชนที่ทันสมัย เพราะรายได้เปลี่ยนแปลงทุกปีตามค่าแรงขั้นต่ำ ตามการปรับฐานเงินเดือน และการปรับขึ้นเงินเดือน เป็นต้น
อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ช่วยให้สามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ โดยใช้รายได้เป็นตัวกำหนด เช่น รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ รัฐจะโอนเงินช่วยเหลือเป็นรายบุคคล
วิธีการนี้ ยังจะทำให้แรงงานไทยที่อยู่นอกระบบ ร้านค้าที่ไม่เข้าสู่ระบบภาษี ได้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกังวล เพราะหากมีรายได้น้อย ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี บุคคลเหล่านั้นจะได้รับการช่วยเหลือ รัฐจะต้องโอนเงินสดเยียวยา หรือได้รับสวัสดิการจากรัฐ ส่วนบุคคลที่มีรายได้เกินเกณฑ์ ต้องเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เอาแต่หนีภาษีไปตลอดชีวิต
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำกระทรวงการคลัง สั้นๆว่า กรมสรรพากรพร้อมศึกษาและดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล หากจะนำระบบ Negative Income Tax มาใช้จริง แต่ต้องใช้เวลาดำเนินการ เนื่องจากมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยต้องแก้กฎหมายเกี่ยวกับการยื่นแบบภาษีด้วย.
ดวงพร อุดมทิพย์
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม