ทำงานประจำ แต่ “ขายของออนไลน์” หารายได้เสริมด้วย ต้องยื่นภาษีประเภทใด? ฝ่าฝืน-ค้างจ่าย มีโทษปรับ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำงานประจำ แต่ “ขายของออนไลน์” หารายได้เสริมด้วย ต้องยื่นภาษีประเภทใด? ฝ่าฝืน-ค้างจ่าย มีโทษปรับ

Date Time: 18 ส.ค. 2567 09:52 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • เปิดข้อมูล “ภาษีของคนขายของออนไลน์” ขายของออนไลน์พร้อมทำงานประจำ ต้องยื่นภาษีประเภทใด? ฝ่าฝืน-ค้างจ่าย ระวัง! ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง นาน 10 ปี พร้อมรายละเอียด วิธี และตัวอย่าง การคำนวณภาษีอย่างง่าย

Latest


ต้องยอมรับว่าปัจจุบันรายได้ทางเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ยุคหลังๆ มนุษย์เงินเดือน, คนทำงานประจำหลายคน ได้ผันตัวมาเป็นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ หารายได้เสริมกันมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องรับรู้ คือ ข้อกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับภาษีสำหรับการขายของออนไลน์ ที่ผู้ประกอบการมือสมัครเล่น มีหน้าที่ต้อง “ยื่นแบบภาษี” แม้ท้ายที่สุด อาจไม่ต้องเสียภาษีเสมอไป เพราะการเสียภาษีขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิของบุคคลนั้นๆ ว่ามีเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ 

ในประเด็นดังกล่าว หอการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเผยแพร่ และสร้างความเข้าใจไว้ว่า การเสียภาษีเงินได้ สำหรับพนักงานประจำ กับการขายของออนไลน์นั้น จะต้องแยกประเภทการเสียภาษีตามเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท

เพราะรายได้จากงานประจำเป็นรายได้ประเภทหนึ่ง ส่วนรายได้จากการขายของออนไลน์ก็ถือว่าเป็นผู้มีรายได้อีกรูปแบบหนึ่ง

  • เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส ซึ่งก็คือรายได้ของมนุษย์เงินเดือน
    เงินได้ประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้จากการอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในเงินได้ประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 เช่น ขายสินค้าออนไลน์

นี่เองจึงทำให้มนุษย์เงินเดือนขายของออนไลน์ ต้องยื่นภาษีเงินได้อยู่ 2 ประเภท คือ เงินได้ประเภทที่ 1 และเงินได้ประเภทที่ 8 

ยื่นภาษีขายของออนไลน์ เมื่อไร? 

ซึ่งหลังจากเรายื่นแบบ ภ.ง.ด. 91: แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในรอบวันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 มี.ค. ของทุกปีแล้ว 

ภายในวันที่ 1 ก.ค. ถึง 30 ก.ย. ของปีภาษีเดียวกัน ก็ถึงเวลาต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94: แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(5) (6) (7) (8) ด้วยเช่นกัน 

การคำนวณภาษีขายของออนไลน์สำหรับมนุษย์เงินเดือน

มนุษย์เงินเดือนที่ทำการขายของออนไลน์ จะเสียภาษีในรูปแบบ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” โดยสามารถคำนวณภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา มี 2 วิธี คือ

วิธีที่หนึ่ง คำนวณภาษีแบบขั้นบันได
(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย


1. รายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภท 40(1)) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

2. รายได้จากขายของออนไลน์ (เงินได้ประเภท 40(8)) มี 2 วิธี

  • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ใช้ได้ในกรณีที่ขายของออนไลน์แบบซื้อของมาขาย
  • หักค่าใช้จ่ายตามจริง ใช้ในกรณีที่ผลิตสินค้าเอง แต่วิธีนี้จะต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และเก็บเอกสารอย่างรอบคอบ

ตัวอย่างการคำนวณหักค่าใช้จ่ายภาษี

นาย ก เงินเดือน 30,000 บาท และมีรายได้จากขายของออนไลน์เดือนละ 15,000 บาท ทำประกันชีวิตปีละ 20,000 บาท
1. รายได้ต่อปี 30,000 x 12 = 360,000 
    หักค่าใช้จ่าย 360,000-100,000 = 260,000 บาท     
2. เงินจากการขายของออนไลน์ : 15,000/เดือน รายได้ต่อปี 15,000 x 12 = 180,000
    หักค่าใช้จ่าย 60% : 180,000 - 108,000 = 72,000 บาท
3. นำเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากทั้ง 2 ประเภทมารวมกัน จะได้ 260,000 + 72,000 = 332,000 บาท 
4. นำเงินได้ 332,000 - (60,000 + 20,000) = 252,000 บาท 
5. นำเงินที่หักลบค่าลดหย่อนแล้ว มาคิดภาษีขั้นบันได คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ คือ (150,000 แรกยกเว้น) + (102,000 x 5%) = 7,000 บาท


สรุป นาย ก จะต้องเสียภาษี 7,000 บาท

วิธีที่สอง คำนวณภาษีแบบเหมา


วิธีการ คือ เงินได้ทั้งหมด x 0.5% วิธีนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาทต่อปี หากใครมีรายที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาท ต้องคำนวณดูทั้งวิธีแรก และวิธีที่สองควบคู่กันไป วิธีไหนได้ภาษีที่ต้องจ่ายมากกว่า ก็ให้ใช้วิธีนั้นในการคำนวณ 

หากไม่ยื่นภาษี มีบทลงโทษอย่างไร

หากขายของออนไลน์และไม่ยื่นภาษีหรือยื่นภาษีล่าช้า มีบทลงโทษ ดังนี้
• หากไม่เคยยื่นภาษี ภาษีย้อนหลังที่ต้องจ่าย = ภาษีค้างจ่าย + เบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีค้างจ่าย + ดอกเบี้ยปรับ 1.5% ต่อเดือน
เช่น (ภาษีค้างจ่าย 20,000 บาท + เบี้ยปรับ 40,000 บาท) + ดอกเบี้ยปรับ 1.5% ต่อเดือน รวมแล้วภาษีย้อนหลังที่ต้องจ่ายอย่างต่ำ = 60,000 บาท และสามารถเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ถึง 10 ปี
• หากเคยยื่นภาษี แต่ยื่นไม่ครบ จะลดอายุความเหลือ 2-5 ปี

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ