โค้งสุดท้ายแล้วสำหรับเทศกาล “ยื่นภาษี” ที่ทำเอาหลายคนกุมขมับ วุ่นเตรียมเอกสารประกอบการยื่นภาษี หาวิธีลดหย่อนที่คุ้มค่าที่สุดเพื่อประหยัดเงิน สำหรับคนที่ทำงานมาหลายปี ความยุ่งยากในการจัดการภาษีก็คงลดน้อยลงตามความเคยชิน แต่สำหรับ “เด็กจบใหม่” ที่เพิ่งก้าวสู่สังคมการทำงาน การจัดการภาษีถือเป็นเรื่องที่สร้างความเครียดไม่น้อย
ผลสำรวจของ Cash App ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ในสหรัฐฯ พบว่า 1 ใน 4 ของคน Gen Z มีแผนที่จะพบนักบำบัดความเครียดระหว่างการยื่นภาษี
นอกจากนี้ 54% ยังเปิดเผยว่า การยื่นภาษีทำให้พวกเขาร้องไห้ เมื่อเทียบกับ Millennial ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 38% ทั้งนี้ สาเหตุความเครียดหลักๆ มาจากการที่คนรุ่นใหม่มีรายได้หลายทาง และทำอาชีพหลากหลายมากขึ้น เช่น รายได้จากการเทรดคริปโตฯ ขายไอเทมในเกม ทำอาชีพอิสระผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเป็นคนขับรถ Uber ทำให้การเตรียมเอกสารและคำนวณภาษีมีความซับซ้อนมากขึ้น และแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
สำหรับประเทศไทยมีระบบ E-FILING ยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร ซึ่งจะช่วยคำนวณภาษีที่เราต้องจ่ายจากข้อมูลในใบ 50 ทวิ ซึ่งระบบจะปิดรับยื่นรายการแสดงภาษีในวันที่ 9 เมษายนนี้ สำหรับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่ยื่นภาษี Thairath Money สรุปเรื่องที่ต้องรู้ก่อนยื่นภาษีโค้งสุดท้ายมาให้แล้ว อ่านจบยื่นภาษีตามได้เลย
ตามนิยามของกรมสรรพากร “เงินได้” ย่อมาจากคำว่า “เงินได้พึงประเมิน” ซึ่งหมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคมของปี สรุปเป็นภาษาเข้าใจง่ายก็คือ รายได้ที่เราได้รับจากช่องทางต่างๆ ตลอดปีภาษีนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินจากการทำงาน การลงทุน ทรัพย์สินต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ตามกฎหมายกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้สุทธิมากกว่า 120,000 บาทต่อปี จะต้องทำการยื่นภาษี โดยไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาทต่อปี จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และทำการเสียภาษี ผ่านแบบแสดงรายการภาษี 2 ประเภท ได้แก่ ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้มีเงินได้หลายทางนอกจากเงินเดือนและ ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้มีเงินได้ทางเดียวจากเงินเดือน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะต้องเสียหรือไม่เสียภาษี ผู้ที่มีเงินได้เข้าเกณฑ์จะต้องทำการยื่นภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2567 หรือจะยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ได้ถึง 9 เมษายน 2567
สำหรับเด็กจบใหม่ที่มีรายได้จากเงินเดือนช่องทางเดียว จะมีขอบเขตรายได้ที่ต้องยื่นภาษีและต้องเสียภาษี ดังนี้
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภ.ง.ด. 91 และ ภ.ง.ด. โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับยื่นภาษี ดังนี้
ใบ 50 ทวิ คือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งแสดงรายการเงินได้ทั้งปีที่นายจ้างจะต้องออกให้กับลูกจ้าง โดยเราจะต้องใช้เป็นหลักฐานประกอบการคำนวณและยื่นภาษี
แม้การยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร จะคำนวณภาษีที่เราต้องจ่ายให้อัตโนมัติ แต่การคำนวณภาษีด้วยตัวเองเบื้องต้น จะช่วยเช็กความถูกต้องของข้อมูลอีกรอบ ป้องกันการจ่ายภาษีเกินหรือขาด ซึ่งต้องเสียเวลามายื่นเอกสารใหม่ หรือในบางกรณีอาจมีบทลงโทษตามกฎหมาย
[(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) - เงินบริจาค] *อัตราภาษี
• เงินได้ คือ รายได้ทั้งปี รวมโบนัส หรือถ้าเป็นพนักงานบริษัทก็คือ เงินเดือน x12+โบนัส
• ค่าใช้จ่าย คือ ส่วนที่กฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อหักเป็นต้นทุนสำหรับการทำมาหารายได้ของเรา การหักค่าใช้จ่ายมี 2 แบบ คือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา และการหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง
• ค่าลดหย่อน เป็นสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายเปิดช่องเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บิดามารดา บุตร อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ เบี้ยประกันบิดามารดา ฯลฯ แล้วเมื่อคำนวณเงินได้ออกมาแล้ว ก็ต้องไปเทียบกับฐานภาษีของสรรพากร
• เงินบริจาค คือ เงินที่ได้รับสิทธินำมาลดหย่อนไม่เกิน 10% จากเงินได้สุทธิก้อนแรก เช่น เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์
เมื่อทราบเงินได้สุทธิแล้ว ให้นำมาคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเทียบตามอัตราภาษีขั้นบันได ดังนี้
สำหรับคนที่ยื่นภาษีไม่ทันระยะเวลาที่กำหนดอย่าชะล่าใจ แม้ไม่มีภาษีที่ต้องจ่าย แต่การยื่นภาษีล่าช้านั้นมีความผิดตามกฎหมาย โดยจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือสำหรับคนที่ต้องเสียภาษีนอกจากจะถูกปรับเงินแล้ว ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ (ถ้ามีเศษของเดือนให้นับเป็นเท่ากับ 1 เดือน)
ที่มา
อ่านข่าว และเทคนิคการเงินส่วนบุคคล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney