เดือนชนเดือน! คำนี้ไม่เกินจริงสำหรับมนุษย์เงินเดือน นั่นก็เพราะว่าแม้จะมีรายรับเข้ามา แต่รายจ่ายก็จ่อคิวรอเสียบอยู่แทบทุกเดือน ดังนั้นสิ่งที่ยากที่สุดของมนุษย์เงินเดือนก็คงหนีไม่พ้นวิธีการ “เก็บเงิน” เนื่องจากแต่ละเดือนจะต้องมีการแบ่งสรรปันส่วน ไปใช้ในโอกาสต่างๆ ไหนจะค่าคอนโด ค่าผ่อนรถ บัตรเครดิต ค่ากินอยู่ในแต่ละวัน จะเอาเวลาไหนไปเก็บเงิน หลายคงก็คงจะรู้สึกเช่นนี้
แต่อย่าลืมว่า “มนุษย์เงินเดือน” เป็นกลุ่มคนที่ทำงานประจำและมีรายได้แน่นอน เราจะรู้ว่าเงินเดือนจะออกในช่วงวันไหน และออกเท่าไร มีระยะเวลาและจำนวนที่ตายตัว ดังนั้นหากมีการจัดสรรเงินให้พอใช้ในทุกเดือน ก็จะสามารถเก็บเงินได้ด้วยเช่นกัน
ในครั้งนี้ #Thairath Money ได้รวบรวม 5 ทริก ฝากเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน ที่ทำได้ไม่ยาก
รู้หรือไม่ รูปแบบเงินฝากในปัจจุบันมีอะไรบ้าง
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เป็นบัญชีที่ฝากได้โดยไม่มีขั้นต่ำ สามารถฝากและถอนเงินได้ตลอดเวลา สะดวกและรวดเร็ว มักจะใช้คู่กับบัตรเดบิต
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดอกสูง เป็นบัญชีออมทรัพย์ที่ได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ดอกเบี้ยที่ได้รับ หากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จะไม่ต้องเสียภาษี เป็นบัญชีที่มีความคล่องตัวสูง จะฝากหรือถอนเมื่อไหร่ก็ยังได้ดอกเบี้ยสูง แต่อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมบางอย่าง
- บัญชีเงินฝากประจำ คือการฝากเงินก้อน โดยสามารถเลือกระยะเวลาการฝากได้หลากหลาย เช่น 3 / 6 / 12 / 24 / 36 หรือ 48 เดือน ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า เงินฝากออมทรัพย์
- บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ มีลักษณะคล้ายกับบัญชีเงินฝากประจำแบบปกติ เพียงแต่มีระยะเวลาการฝากที่ต่างไป เช่น 7 / 9 / 11 เดือน เป็นต้น บัญชีประเภทนี้มีข้อดีคือ มักจะได้รับดอกเบี้ยสูงเป็นพิเศษ
- บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี นอกจากอัตราดอกเบี้ยมักจะสูงเป็นพิเศษแล้ว ยังมีเงื่อนไขแบบพิเศษคือจะได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องฝากเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือน ตามระยะเวลาการฝากที่เลือก ตั้งแต่ 500 บาท – 25,000 บาท ต่อเดือน
สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ ฝากเงินไม่ตึงมือเกินไป ต้องทำแบบนี้
- กำหนดเป้าหมายการออม
กำหนดเป้าหมายการออมว่า ต้องการออมไว้เพื่ออะไร เช่น เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เก็บไว้เพื่อเกษียณอายุ หรือเก็บไว้เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ ทุนการศึกษาบุตร ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าควรจัดสรรเงินออมในแต่ละเดือนอย่างไร แต่ละเป้าหมายต้องเก็บเงินเท่าไหร่ ถ้ามีหลายเป้าหมายก็ต้องออมเงินเพิ่มมากขึ้น
- วางแผนการออมเงินในแต่ละเดือน
ควรกำหนดจำนวนเงินออมที่สอดคล้องกับทั้งรายได้และรายจ่ายในทุกเดือน และตลอดทั้งปี ซึ่งโดยปกติแล้วจะหักออมไว้ที่ขั้นต่ำ 5-10% เพื่อให้สามารถออมได้อย่างมีวินัย มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างสบายๆ
- เลือกรูปแบบบัญชีเงินฝากที่เหมาะสมกับเป้าหมาย และความต้องการในการออม
เป้าหมายในการออมมีผลต่อการเลือกประเภทบัญชีเงินฝาก หากต้องการออมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ควรเลือกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เพราะถอนได้ทันที แต่หากต้องการออมเงินไว้เพื่อการเกษียณอายุ อาจเลือกฝากในรูปแบบเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาฝากนาน เพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่หากยังไม่มีเงินก้อนใหญ่ ยังต้องทยอยสะสม บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด
- ตรวจสอบอัตราดอกเบี้ย
การฝากเงินถือเป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าให้เปรียบเทียบ อัตราดอกเบี้ยของบัญชีแต่ละประเภท เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับดอกเบี้ยสูงที่สุดนั่นเอง