เจาะลึก Virtual Bank "ความหวังหมู่บ้าน" ช่วยคนชายขอบ-แหล่งเงินเอสเอ็มอี-เพิ่มแข่งดอกเบี้ย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เจาะลึก Virtual Bank "ความหวังหมู่บ้าน" ช่วยคนชายขอบ-แหล่งเงินเอสเอ็มอี-เพิ่มแข่งดอกเบี้ย

Date Time: 18 มี.ค. 2567 06:01 น.

Summary

  • การจัดตั้ง Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารในระบบออนไลน์ ไม่มีสาขา ไม่มีพนักงาน ไม่มีสมุดบัญชีเหล่านี้ มั่นคงแค่ไหน จะสามารถตอบโจทย์ที่จะแก้ “จุดอ่อน” ของระบบการเงินไทยได้จริงหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยที่จะใช้บริการมากน้อยเพียงใด แตกต่างจากการใช้แอปพลิเคชันในมือถือของธนาคารดั้งเดิม ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” หาคำตอบมาให้

Latest

กกร. ถก ธปท. แก้ปญหาเอสเอ็มอี ลดเงินส่งกองทุนฟื้นฟู-เพิ่มทางเข้าถึงสินเชื่อ

หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้กลุ่มธุรกิจที่สนใจเข้ายื่นคำขออนุญาตจัดตั้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในเวลา 6 เดือนโดยจะเริ่มเปิดรับคำขอในวันที่ 20 มี.ค.นี้

ส่งผลให้แวดวง “การเงิน” ไทยกลับมามีความคึกคักอีกครั้ง เพราะการให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ในรูปแบบ Virtual Bank ในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีหลัง “วิกฤติต้มยำกุ้งใน
ปี 2540” ซึ่งระบบสถาบันการเงินไทยล่มสลาย กลายเป็น “แผลเป็น” ที่ย้ำเตือนถึงการบริหารงานที่ผิดพลาด ซึ่งประเทศไทยจะมี “ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ” แห่งใหม่ที่ไม่ได้มาจากการควบรวมกิจการ หรือการยกระดับจากธนาคารเพื่อรายย่อย และหากไม่นับใบอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่เต็มรูปแบบในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหาการล้มของสถาบันการเงินแล้ว Virtual Bank ใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบที่ทำธุรกรรมการเงินได้ครบถ้วนทุกอย่างรายใหม่ของไทยในรอบกว่า 50 ปี หลังจาก “ธนาคารกรุงไทย” เกิดขึ้นในปี 2509

นอกจากนั้น ยังเป็นการจบข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นมายาวนานที่ว่า “ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีน้อยเกินไป จนทำให้ไม่มีการแข่งขันด้านดอกเบี้ย และการปล่อยสินเชื่อเท่าที่ควร ทำให้ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงิน ในระบบ รวมทั้งปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รายเล็ก ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ”

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของสังคม ยังคงมีคำถามว่า การจัดตั้ง Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารในระบบออนไลน์ ไม่มีสาขา ไม่มีพนักงาน ไม่มีสมุดบัญชีเหล่านี้ มั่นคงแค่ไหน จะสามารถตอบโจทย์ที่จะแก้ “จุดอ่อน” ของระบบการเงินไทยได้จริงหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยที่จะใช้บริการมากน้อยเพียงใด แตกต่างจากการใช้แอปพลิเคชันในมือถือของธนาคารดั้งเดิม ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” หาคำตอบมาให้...ดังนี้

เปิดนิยาม Virtual Bank ธนาคารไร้สาขา

แต่ก่อนที่จะลงรายละเอียดอื่นๆ ของ Virtual Bank หรือที่ในบางประเทศเรียกว่า เป็น Digital-only bank หรือ Neobank ขอเริ่มต้นจาก “นิยาม” Virtual Bank ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยจาก ธปท.ก่อน ว่าเป็นอย่างไร

นิยามของ Virtual Bank คือ ธนาคารพาณิชย์ไทยในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา โดยจะให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก แต่สามารถให้บริการรับฝากเงิน พิจารณาให้สินเชื่อ โอนและชำระเงิน การให้บริการด้านการลงทุน รวมทั้งบริการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาได้ทุกประการ

แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ที่ให้บริการ Virtual Bank จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงิน และมีความสามารถในการดูแลความปลอดภัยของระบบธนาคารที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นพิเศษ สามารถใช้เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการเสาะหาข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) และข้อมูลทางเลือก (alternative data) ที่หลากหลายเพื่อประกอบการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เช่น มีความสามารถในการนำพฤติกรรมการใช้จ่าย และรายได้ที่ลูกค้ามีผ่านทางระบบออนไลน์ และออฟไลน์ พฤติกรรมการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน และข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ซึ่งไม่มี ใช้กันในธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมมาใช้ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อนำเสนอบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ การให้สินเชื่อแบบเฉพาะเจาะลง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินที่มีอยู่เดิม สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ในทุกระดับมากขึ้น โดยข้อมูล ส่วนบุคคลจะต้องไม่รั่วไหล หรือถูกโจรกรรมทางการเงินจากโลกไซเบอร์

อย่างไรก็ดี Virtual Bank ในช่วงเริ่มต้น อาจจะรับฝากเงินและถอนเงิน ผ่านตัวแทนทางการเงิน (banking agent) หรือผ่านตู้รับเงินฝาก CDM หรือ ATM ของธนาคารพาณิชย์อื่นไปก่อนได้ เพื่อรองรับลูกค้าบางกลุ่มที่ยังจำเป็นต้องใช้เงินสด แต่จะต้องมีแผนการทยอยลดการให้บริการผ่านช่องทางเหล่านี้เพื่อเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ส่วนผู้ฝากเงินที่เลือกฝากเงินกับ Virtual Bank จะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น หรือได้รับความคุ้มครองวงเงิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี ต่อ 1 สถาบันการเงิน

ตั้งเป้าปิดจุดอ่อน “คนชายขอบ-นอกระบบ”

เจาะต่อลงไปถึงภาพของการให้บริการ จากการศึกษา “Virtual Bank ของจริง” ที่เปิดทำการในหลายประเทศทั่วโลก ธปท. พบว่า ความได้เปรียบของ Virtual Bank จะอยู่ที่ “ต้นทุน” ที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ทั้งส่วนของเงินฝากและการให้สินเชื่อได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆให้เข้าถึงผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม โดย ธปท.ตั้งเป้าให้ Virtual Bank เข้าไปรองรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (unserved) เช่น ไม่เคยมีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ หรือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการที่ดีเพียงพอ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ (underserved) เช่น ผู้ออมที่ได้รับผลประโยชน์จากการออมต่ำกว่าที่ควร เป็นต้น

ยกตัวอย่างจาก Virtual Bank ในต่างประเทศ เช่น การเปิดบัญชีกับธนาคารไร้สาขาที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของสหราชอาณาจักร จะมีขั้นตอนเพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลงในโทรศัพท์มือถือ ถ่ายภาพบัตรประจำตัวและเอกสารยืนยันที่อยู่ ถ่ายคลิปวิดีโอตัวเองสั้นๆ เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตน ก็เปิดบัญชีได้ในเวลาไม่ถึง 10 นาที หรือ Virtual Bank ในแอฟริกาใต้ ซึ่งพัฒนากระบวนการเปิดบัญชีที่รวดเร็วภายใน 5 นาที โดยใช้การสแกนลายนิ้วมือ

ส่วนการช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อนั้น Virtual Bank ในจีนหลายแห่งใช้ข้อมูลรอยเท้าดิจิทัลร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) พิจารณาวงเงินให้สินเชื่อ และประเมินความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย จนสามารถให้สินเชื่อขนาดเล็ก (micro credit) แก่ผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอีที่ไม่เคยได้สินเชื่อจากธนาคารดั้งเดิมมาก่อน รวมทั้งกรณี WeBank ของจีน ที่ต่อยอดจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ WeChat และ QQ กว่า 1,300 ล้านคน รวมถึง WeChat Pay ที่ทำให้รู้ถึงพฤติกรรมการใช้เงินของลูกค้า เมื่อนำมารวมกับการใช้ AI คลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้สามารถพิจารณาวงเงินสินเชื่อ 500-300,000 หยวนได้ในเวลาเพียงเสี้ยวนาที และส่งเงินเข้าบัญชีผู้ขอภายใน 1 นาที ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

และกรณี Nubank ของบราซิล ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินในรูปแบบบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลให้กับคนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งมีจำนวนมากในบราซิล เม็กซิโก และโคลอมเบียด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดแข็งของ Virtual Bank จากความได้เปรียบทางด้านต้นทุนที่ต่ำ นำเสนอประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดค่อนข้างมาก ขณะที่พบว่า Virtual Bank ของอินโดนีเซีย ช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินได้เช่นกัน

จึงเป็นความหวังที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ “กลุ่มคนชายขอบ” นอกระบบสถาบันการเงิน ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ไม่มีข้อมูลการเงินเพียงพอ และหนี้นอกระบบ ให้เข้าถึงระบบการเงิน และสินเชื่อในไทยมากขึ้น

กระตุ้นแข่งขัน-แต่ไม่กระตุ้นความเสี่ยง

ส่วนประเด็นการกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน จากการศึกษา Virtual Bank ส่วนใหญ่จะไม่เก็บค่ารักษาบัญชี และค่าธรรมเนียมหลายประเภท ซึ่งกรณีนี้ทำให้ธนาคารหลายแห่งในฮ่องกงยกเลิกค่ารักษาบัญชีที่มีเงินฝากจำนวนน้อย และค่าธรรมเนียมการขอ Bank statements ขณะที่ KakaoBank ในเกาหลีใต้ ยังเปิดศึกด้านราคากับธนาคารดั้งเดิม โดยเสนอดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าคู่แข่ง เช่น ดอกเบี้ย 2% กับเงินฝากราว 3 แสนบาท สูงกว่ารายอื่นที่ให้เฉลี่ย 1.3% รวมถึงให้เงินกู้ฉุกเฉินวงเงินสูงสุด 3 ล้านวอน ภายใน 1 นาที หากมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข

อย่างไรก็ตาม การเข้ามากระตุ้นการแข่งขันของระบบการเงินจำเป็นจะต้องทำอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินควร จนเกิดการแข่งขันรุนแรง และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว

เช่น การแข่งขันกันแย่งลูกค้าด้วยกลยุทธ์ราคา จนทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฝากเงิน และผู้ใช้บริการในวงกว้าง หรือ การแข่งขันกันปล่อยสินเชื่ออย่างไม่รับผิดชอบจนกระตุ้นให้ลูกค้าก่อหนี้เกินตัว รวมทั้งการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้อง หรือใช้อำนาจทางการตลาดอย่างไม่เหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่า Virtual Bank จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Virtual Bank ทุกแห่งจะประสบความสำเร็จ โดยจากกรณีศึกษาพบว่า การเร่งการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป และการพิจารณาสินเชื่อที่ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงเพียงพอ ทำให้ Virtual Bank ในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ต้องปิดกิจการลงในเวลาไม่นาน และมี Virtual Bank ในสหราชอาณาจักร และฮ่องกง อีกไม่น้อย ในขณะนี้ที่อยู่ในสภาพ “ขาดทุน”

อุปสรรคสำคัญส่วนหนึ่งมาจาก “ความเชื่อมั่นของลูกค้า” โดยลูกค้าจำนวนมากยังนิยมใช้บัญชี Virtual Bank เป็นบัญชีรอง โดยโอนเงินจำนวนหนึ่งมาไว้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ยังใช้บัญชีที่ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมเป็นบัญชีหลักเพื่อรับเงินเดือนหรือเงินออม ประกอบกับความกังวลในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ในโลกวันนี้ที่ชุกชุมยิ่งกว่ายุง มด ปลวก ทำให้ Virtual Bank ไปได้ไม่สุดทาง แม้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

จากบทเรียนดังกล่าว การกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอจัดตั้ง Virtual Bank ของไทย จึงมีความเข้มข้นในด้านเงินทุน โดยต้องมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้นไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เพื่อให้มีฐานะแข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยี และรองรับการเริ่มดำเนินธุรกิจในระยะแรกที่อาจยังไม่มีกำไร ขณะที่การป้องกันความเสี่ยงที่มิจฉาชีพ เช่น การเปิดบัญชีม้า ธปท.กำหนดให้ Virtual Bank ต้องใช้มาตรฐานการยืนยันตัวตน (KYC) เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ รวมทั้ง การให้ใบอนุญาตจะคำนึงถึงความยืดหยุ่น ปลอดภัยของเทคโนโลยี และการป้องกันทางไซเบอร์ที่เข้มข้น

ลุ้นโฉมหน้าว่าที่ Virtual Bank รายใหม่

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การให้ใบอนุญาต Virtual Bankครั้งนี้ เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการ ภาคการเงินเดิม บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (BigTech) บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) กิจการค้าร่วม (consortium) ร่วมกันจัดตั้ง Virtual Bank ได้ และยังร่วมทุนกับต่างประเทศได้สูงสุด
ไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการเปิดรับฟังความคิดเห็นต้นปี 2566 มีผู้ให้ความสนใจสอบถามรายละเอียดจาก ธปท.ถึง 10 ราย ขณะที่การฟอร์มทีมล่าสุด “ดรีมทีม” ที่แสดงตัวชิงชัยใบอนุญาต Virtual Bank อยู่ที่ 5 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกเป็นความร่วมมือของธนาคารกรุงไทย กับ AIS ยักษ์ใหญ่ในกิจการโทรคมนาคม บริษัทธุรกิจด้านไฟฟ้าอย่าง GULF และบริษัท OR เจ้าของปั๊มน้ำมัน ปตท. กลุ่มที่ 2 เป็นการจับมือกันระหว่าง 2 สถาบันการเงินชั้นนำ SCBX ของไทย กับ KakaoBank ผู้นำธนาคารดิจิทัล และ Virtual Bank ในเกาหลีใต้

กลุ่มที่ 3 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ผ่านบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “ทรูมันนี่” ซึ่งมีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน จับมือกับยักษ์ใหญ่จีนอย่าง Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba

โดยบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด แจ้งต่อ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า มีความสนใจและกำลังศึกษาหลักเกณฑ์การขออนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank โดยคิดว่าน่าจะร่วมยื่นขอใบอนุญาต เนื่องจากเชื่อมั่นในพันธกิจของบริษัทฯ ในการช่วยให้ผู้ที่ยังไม่เข้าถึงเครื่องมือทางการเงิน สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นจากนวัตกรรมทางการเงินที่เรามอบให้ และ Virtual Bank จะเป็นส่วนสำคัญต่อพันธกิจนั้น โดยมั่นใจว่ามีศักยภาพพอที่จะสามารถผลักดัน Virtual Bank ให้ประสบความสำเร็จ โดยเปิดรับเงื่อนไข หากมีพันธมิตรที่มีพันธกิจคล้ายกันและเหมาะสม ก็จะพิจารณาร่วมมือกันได้

กลุ่มที่ 4 บริษัท JMART เจ้าของธุรกิจปล่อยสินเชื่อ KB J Capital และบริษัทจัดเก็บหนี้ JMT ร่วมกับ KB Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินเกาหลีใต้ และกลุ่มที่ 5 ล่าสุด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่ประกาศความพร้อมไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยกำลังหารือกับที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

คงต้องติดตามว่า ในที่สุดจะมีกลุ่มไหนบ้าง เพราะยังมีเวลาอีก 6 เดือนในการสมัคร และที่สำคัญแม้ว่าประกาศกระทรวงการคลังจะไม่ได้ระบุจำนวนใบอนุญาตว่าจะให้จำนวนกี่ราย แต่ในฝั่งของ ธปท.มีความชัดเจนแล้วว่าจำนวนที่เหมาะสมในครั้งแรกของการพิจารณาใบอนุญาต Virtual Bank ใหม่จะให้ไม่เกิน 3 รายเท่านั้น

กลุ่มที่จะยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง จึงต้องพิจารณาข้อดี ข้อด้อย และความคุ้มค่าในการลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทให้ดี เพราะจากประสบการณ์ในต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จงดงามและพังไม่เป็นท่า

นอกจากนั้น หากต้องการเจาะกลุ่มคนชายขอบจริง ประสบการณ์ในการให้สินเชื่อรายเล็กๆในประเทศไทย ทั้งนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ออกมาดีเท่าที่ควร โดยเป็นการให้สินเชื่อในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น จึงเป็นความท้าทายของ Virtual Bankใหม่ในไทย ทั้งกลยุทธ์ต่างๆที่จะใช้แข่งขันในการทำตลาดและการเติบโตแบบก้าวกระโดด มีลูกค้าหลายสิบล้านคนทันทีหลังจากเปิดไม่นาน เหมือน Virtual Bank ในต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน การลงทุนต่อเนื่องเพื่อปรับเทคโนโลยีให้ทันสมัย และสามารถป้องกันการเจาะ การแฮ็ก หรือการโจมตีในรูปแบบต่างๆ ของภัยไซเบอร์ ซึ่งมิจฉาชีพพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ถือเป็นต้นทุนที่สูงไม่น้อย

ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดการรับสมัครในวันที่ 19 ก.ย. ธปท.และกระทรวงการคลังจะใช้เวลาอีก 9 เดือน ก่อนประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในเดือน มิ.ย.ปีหน้า จากนั้นจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการจริง ทำให้เร็วที่สุดเราจะมี Virtual Bank ใหม่ได้ในเดือน มิ.ย.ปี 69 หรืออีก 2 ปีกับ 3 เดือนจากนี้

หลังจากนั้น เราจะได้รู้กันว่า Virtual Bank จะเปิดโลกใหม่จะกำจัดจุดอ่อนในระบบการเงินไทยได้จริงหรือไม่ หรือแค่วาดความฝันที่สวยงามไว้ เพื่อที่จะตื่นมาแล้วพบความจริงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ