ภัยทำบัตรเครดิต “หนี้” ที่ไม่ควรมองข้าม ทำไมเราไม่ควรผ่อนขั้นต่ำ? ทางออกของคนชอบรูดปรื๊ด!

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ภัยทำบัตรเครดิต “หนี้” ที่ไม่ควรมองข้าม ทำไมเราไม่ควรผ่อนขั้นต่ำ? ทางออกของคนชอบรูดปรื๊ด!

Date Time: 13 มี.ค. 2567 07:00 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • "ผ่อนขั้นต่ำ" ภัยบัตรเครดิตใกล้ตัว ที่ไม่ควรละเลย แม้ยอดเงินขั้นต่ำจะทำให้ดูเหมือนจ่ายได้น้อยลง แต่การจ่ายขั้นต่ำก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเสมอไป เพราะจะทำให้เกิด “ดอกเบี้ยสะสม” คือ ดอกเบี้ยจากยอดที่ใช้ไป และดอกเบี้ยจากยอดที่ยังค้างอยู่จะสะสมเพิ่มพูน #Thairath Money ได้รวม 5 เคล็ดลับการใช้บัตรเครดิตให้ไม่ต้องจ่ายขั้นต่ำเอาไว้ที่นี่

Latest


การใช้ “บัตรเครดิต” แทน “เงินสด” หากเลือกใช้อย่างถูกวิธี เราจะได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็น โปรโมชันแบ่งจ่าย 0% หรือสิทธิประโยชน์ส่วนลดต่างๆ ที่ติดมากับบัตรเครดิต 

ทั้งนี้บัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อต่างๆ มักมีรูปแบบการชำระยอดค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนด แต่ 2 รูปแบบที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ คือ การชำระแบบเต็มจำนวน และการชำระแบบขั้นต่ำ ซึ่งการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงจ่ายขั้นต่ำเท่าที่เราจ่ายได้นะ แต่เป็นขั้นต่ำที่ทางสถาบันการเงินผู้ออกบัตรกำหนดเอาไว้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้เต็มจำนวน เพื่อรักษาสถานะทางการเงินให้เป็น “ปกติ”

แต่กระนั้นคนส่วนใหญ่มักจะเลือกที่จะ “ผ่อนขั้นต่ำ” เพื่อช่วยแบ่งเบายอดเงินก้อนใหญ่ที่ต้องชำระเมื่อรอบบิลบัตรเครดิตรายเดือนมาถึง หากเดือนนั้นมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเยอะ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ จองตั๋วคอนเสิร์ต เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลให้หลายคนลังเล

ดังนั้นแม้ยอดเงินขั้นต่ำจะทำให้ดูเหมือนจ่ายได้น้อยลง แต่การจ่ายขั้นต่ำก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเสมอไป เพราะเมื่อไหร่ที่จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิด “ดอกเบี้ยสะสม” คือ ดอกเบี้ยจากยอดที่ใช้ไป และดอกเบี้ยจากยอดที่ยังค้างอยู่จะสะสมเพิ่มพูน  

ในที่สุดก็จะเกินความสามารถในการชำระหนี้ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น เสียประวัติ ติดเครดิตบูโร ติดแบล็กลิสต์ อาจส่งผลให้ กู้สินเชื่ออื่นๆ ไม่ผ่านอีกด้วย ส่วนกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ เสี่ยงถูกฟ้องร้อง และยึดทรัพย์

รวมทั้งหลังจากงวดเดือนมกราคม ปี 2567 นี้ แต่ละธนาคารจะเปลี่ยนเงื่อนไข การชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต เป็น 8% จากใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากเดิม ที่อยู่ 5% ก่อนจะกลับไปสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป นั่นจึงทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องรับมือการจ่ายค่างวดที่เพิ่มขึ้น และท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ “การจ่ายบัตรขั้นต่ำ” ปูทางไปสู่จุดเริ่มต้นของการเป็น “หนี้” 

เคล็ดลับการใช้บัตรเครดิตให้ไม่ต้องจ่ายขั้นต่ำ 

  1. ตั้งงบการใช้ จัดสรรงบให้ชัดเจน
    แบ่งแยกว่าในแต่ละเดือนจะใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าอะไรบ้าง เช่น ใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าเบี้ยประกัน หรือ ค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้แน่ใจว่าใช้บัตรเครดิตในเรื่องจำเป็นจริงๆ การมีงบตั้งไว้จึงถือเป็นสิ่งช่วยเตือนให้ยับยั้งชั่งใจไม่ให้รูดใช้เกินกว่าที่จะจ่ายบิลไหว 

  2. หมั่นสังเกตยอดบิล
    เมื่อรายการสรุปยอดบิลบัตรเครดิตมาถึงหลายคนอาจเลือกดูเฉพาะยอดรวมเท่านั้น และมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไป ทำให้ไม่ทันได้สังเกตรายการรูดจ่ายแต่ละรายการที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเดือน จึงต้องอ่านใบแจ้งยอดบัตรเครดิตอย่างละเอียดทุกครั้ง

  3. มีเงินสำรองสำหรับจ่ายค่าบัตรเครดิต
    ควรมีเงินสำรองสำหรับรองรับยอดจ่ายบัตรเครดิตส่วนนี้เผื่อไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายขั้นต่ำในทีหลัง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย แม้จะใช้บัตรเครดิตเกินกว่างบที่ตั้งไว้ก็ยังเบาใจว่าสามารถชำระคืนค่าบัตรเครดิตได้เต็มจำนวนและตรงเวลา

  4. ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก
    ควรใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ไม่จบสิ้น หรือตกอยู่ในวังวนแห่งการเป็นหนี้

  5. หากประเมินว่าจ่ายไม่ไหว 
    หากผู้ถือบัตรเดรดิตมีภาระหนี้มากกว่า 60% ของรายได้ เช่น มีเงินเดือน 20,000 บาท มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดมากกว่า 12,000 บาท นั่นคือสัญญาณที่บอกว่ามีภาระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สูง ดังนั้น การขอปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแต่ขอให้รีบทำเสียแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่กลายเป็น “หนี้พอกหางหมู” ในที่สุด 

อ้างอิง ttbKbank

ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน และธนาคาร กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ