รัสเซียวิ่งสู้ฟัด เชื่อมระบบการเงินโลก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัสเซียวิ่งสู้ฟัด เชื่อมระบบการเงินโลก

Date Time: 8 มี.ค. 2565 07:00 น.

Summary

  • ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินที่ประเทศทั่วโลก ได้ดำเนินการกับประเทศรัสเซีย หลังจากการใช้กองกำลังเพื่อบุกยึดยูเครนต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

Latest

กกร. ถก ธปท. แก้ปญหาเอสเอ็มอี ลดเงินส่งกองทุนฟื้นฟู-เพิ่มทางเข้าถึงสินเชื่อ

ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินที่ประเทศทั่วโลก ได้ดำเนินการกับประเทศรัสเซีย หลังจากการใช้กองกำลังเพื่อบุกยึดยูเครนต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่การตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินโลก การจำกัดการซื้อขายสินค้าบางประเภท ระงับการนำเข้าน้ำมันและการทำธุรกิจประเภทต่างๆ ไปจนกระทั่งตัด “แมวสายพันธุ์รัสเซีย” ออกจากสารบบ

โดยในโลกของการเงินนั้น ชาติตะวันตกได้ตัดสินใจตัด ธนาคารขนาดใหญ่ของรัสเซียจำนวน 7 แห่ง ออกจากระบบสวิฟต์ : SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) หรือสมาคมโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบการโอนและชำระเงินระหว่างประเทศ

ระบบ SWIFT ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2516 โดยธนาคารอเมริกาและยุโรป และปัจจุบันเครือข่ายนี้มีธนาคารและสถาบันการเงินมากกว่า 2,000 แห่งเป็นเจ้าของร่วมกัน ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งชาติเบลเยียม และร่วมมือกับธนาคารกลางทั่วโลก เชื่อมโยงระบบการชำระเงินของธนาคารและสถาบันกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศ ซึ่งธนาคารของไทยทุกแห่งก็เป็นสมาชิก SWIFT ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า SWIFT ไม่ใช่ระบบการโอนเงินหรือตัดชำระบัญชีด้วยตัวเอง แต่ทำหน้าที่แจ้งข้อความคำสั่งการโอนเงินไปยังธนาคารสมาชิกต่างๆ ด้วยความรวดเร็วและปลอดภัย เพราะในการโอนเงินระหว่างประเทศนั้น บางครั้งจะต้องผ่านหลายธนาคารเพื่อส่งเงินจากต้นทางไปยังปลายทาง

ข้อความ SWIFT จะทำให้ธนาคารต้นถึงปลายทางทราบว่าเงินจะต้องถูกโอนไปอย่างถูกต้อง ซึ่งตามปกติจะมีการส่งข้อความประมาณ 40-42 ล้านข้อความต่อวัน เกี่ยวข้องกับวงเงินหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และตัวเลขในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า 1-2% ของข้อความเกี่ยวข้องกับการชำระเงินของรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ ในปี 2557 รัสเซียเคยเกือบถูกตัดจากระบบสวิฟต์มาแล้วครั้งหนึ่ง หลังปฏิบัติการผนวกแหลมไครเมียเข้ากับรัสเซีย แต่การดำเนินการครั้งนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะรัสเซียเป็นผู้ให้บริการพลังงานรายใหญ่ของสหภาพยุโรป ขณะที่ “อิหร่าน” เคยถูกตัดออกจากสวิฟต์เมื่อปี 2555 จากการคว่ำบาตรโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้การส่งออกน้ำมัน และรายได้จากการค้าระหว่างประเทศประมาณ 30-50%

เมื่อตัดรัสเซียจาก SWIFT รัสเซียจะทำธุรกรรมการเงินได้หรือไม่? คำตอบคือ ยังทำได้ แต่อาจจะล่าช้า และไม่ราบรื่น เพราะธนาคารที่รับชำระเงินจะต้องจัดการกันเองโดยตรง หรือต้องหาวิธีอื่น ระบบอื่นมาช่วยชำระค่าสินค้าบริการ รวมทั้งยังจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การชำระค่าพลังงานหรือสินค้าเกษตรจากรัสเซียยุ่งยากขึ้น เป็นการตัดทอนคำสั่งซื้อของลูกค้าและอาจทำให้เจ้าหนี้ไม่มั่นใจให้กู้ยืมหรือเรียกหนี้คืน ซึ่งจะกระทบรายได้รัฐบาลรัสเซียในที่สุด โดยกรณีนี้ “อเล็กซี คูดริน” อดีต รมว.คลังรัสเซีย มองว่า อาจทำให้เศรษฐกิจรัสเซียหดตัวถึง 5%

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ช่วงที่ชาติตะวันตกเกือบจะตัดรัสเซียจาก SWIFT ธนาคารกลางรัสเซียได้เริ่มพัฒนา SPFS (System for Transfer of Financial Messages) ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับ SWIFT ขึ้น โดยปี 2560 มีสมาชิกประมาณ 400 แห่ง แต่ใช้ในรัสเซียและประเทศในกลุ่มพันธ มิตร Eurasian Economic Union : EAEU และก่อนหน้าจะเกิดสงคราม ยูเครน รัสเซียมีแผนที่จะรวมเครือข่ายเข้ากับ Cross-Border Inter-Bank Payments System (CIPs) ของจีน และเชื่อมเครือข่ายกับระบบในลักษณะเดียวกันของอินเดียและอิหร่าน ดังนั้น เมื่อมีการตัดธนาคารรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจาก SWIFT เราคงจะได้เห็นรัสเซียใช้ช่องทางเหล่านี้เพิ่มขึ้นเพื่อความคล่องตัวทางการเงินของรัสเซีย แต่ทั้งนี้ยังมีข้อสังเกตในเรื่อง “ความสามารถของระบบ” ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะ CIPs เป็นระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของจีนที่บริหารจัดการผ่านระบบออนไลน์

ขณะที่อีกทางหนึ่ง ซึ่งมีนักวิเคราะห์มองว่าจะเป็นอีกทางออกของรัสเซีย คือ การแลกเปลี่ยนเงินและการรับสินค้าและบริการผ่าน “คริปโตเคอร์เรนซี” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัสเซียถือเป็น “เหมืองขุดบิทคอยน์” อันดับต้นๆ และเชื่อกันว่า “คนรัสเซีย” ถือบิทคอยน์เป็นอันดับต้นๆของโลก ดังนั้น ท่ามกลางความสนใจถือครองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆของคริปโตเคอร์เรนซีในโลกปัจจุบัน จุดนี้อาจจะเป็นอีก “ระบบการเงินเสรีที่โลกตะวันตกแทรกแซงไม่ได้”

ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ต้องติดตามว่า “สงครามยูเครน” จะสร้างผลกระทบต่อการเมืองโลกอย่างไร ขณะที่ในโลกการเงิน ซึ่งเริ่มมีทางเลือกใหม่ๆ แทนการใช้สกุลเงินหลัก “ดอลลาร์สหรัฐฯ ปอนด์หรือยูโร” เป็นไปได้หรือไม่ที่ เราอาจจะเห็นพัฒนาการการเงินใหม่ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “การถูกขับออกจากระบบการเงินโลกตะวันตกของรัสเซีย”.

ประอร นพคุณ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ