หลายคนมักสงสัยจ่ายเงินประกันสังคมทุกๆ เดือน นอกจากจะรักษาเวลาเจ็บป่วย เบิกค่าทำฟัน ค่าชดเชยช่วงว่างงาน ตกงาน ค่าคลอดบุตร หรือสวัสดิการต่างๆ แล้วยังมีอะไรอีกบ้าง สิ่งที่พวกเรามักจะลืมกันไปนั่นก็คือ เงินที่ประกันสังคมจะเอาไว้จ่ายเรายามแก่เฒ่า
โดยรอบนี้ "เศรษฐินีศรีราชา" จะพาไปเจาะที่ "กองทุนประกันสังคม" ที่เกี่ยวข้องกับเรามากที่สุดก่อน โดยฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้อธิบายว่า กองทุนการออมระยะยาว และกองทุนสวัสดิการเพื่อการเกษียณ ของไทยมีหลายประเภท เช่น ข้าราชการ มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ส่วนมนุษย์เงินเดือน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีถึง 3 กองทุนดังนี้
1. กองทุนประกันสังคม
2. กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ Provident fund หรือเรียกติดปากกันว่า PVD
สำหรับ กองทุนประกันสังคม เป็นสวัสดิการของรัฐสำหรับมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยจะจ่ายเงินทดแทนกรณีคลอดบุตร เลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล พิการไม่สามารถทำงานได้ หรือเมื่อว่างงาน ไปจนถึงเมื่อเราเกษียณอายุแล้วโดยอาจจ่ายเป็นรายเดือนหรือเงินก้อนก็ได้
เงินที่กองทุนนำมาจ่ายก็ คือ เงินที่เราได้สมทบเข้ากองทุน โดยมีนายจ้างและรัฐบาลร่วมสมทบด้วย ปัจจุบันลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเท่ากันในอัตราฝั่งละ 5% แต่ไม่เกิน 750 บาท ส่วนรัฐจ่ายให้ 2.75% แต่เงินทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็น 3 กอง ตามวัตถุประสงค์ของสวัสดิการ คือ
1. กรณีว่างงาน
2. กรณีเลี้ยงดูบุตรและชราภาพ
3. กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือคลอดบุตร
กองทุนประกันสังคมจึงไม่ได้เป็นการออมเพื่อรองรับการเกษียณเพียงอย่างเดียว และจากการคำนวณเงินที่จะได้จากกองทุนในกรณีชราภาพไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ หรือบำเหน็จ อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้หลายคนใช้ชีวิตหลังเกษียณได้เหมือนช่วงก่อนเกษียณ
สำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพของประกันสังคมมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข 2 แบบ คือ
1. กรณีบำนาญชราภาพ
- หากส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่เคยได้รับ สูงสุด 15,000 บาท
- หากส่งเงินมาเกิน 180 เดือน อัตราคำนวณจะเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายทุก 12 เดือนที่เกินมา
ยกตัวอย่างเช่น ส่งเงินสมทบมา 192 เดือน เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย อยู่ที่ 30,000 บาท จะได้รับเงินรายเดือนจนตลอดชีวิต โดยคำนวณดังนี้
180 เดือนแรก อัตราบำนาญ 20% + 12 เดือนหลัง ได้รับอัตราเพิ่ม 1.5%
อัตราบำนาญ 21.5% ของ 15,000 บาท หรือเดือนละ 3,225 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต
2. กรณีบำเหน็จชราภาพ
หากส่งเงินสมทบมาไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินก้อนเท่ากับเงินที่เราและนายจ้างได้จ่ายสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ (ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง) พร้อมผลประโยชน์ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข การจ่ายเงินสวัสดิการให้ผู้ประกันตน จะนำเงินจากในกองทุนโดยไม่ได้เจาะจงว่าเงินของใครต้องจ่ายคืนให้คนนั้น ดังนั้น เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ มีคนชราจำนวนมาก การนำเงินออกมาจากกองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการก็มากขึ้น ขณะที่วัยหนุ่มสาวซึ่งเป็นผู้เติมเงินลงไปในกองทุนมีจำนวนน้อยลงทุกที
ดังนั้น สิ่งเดียวที่ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนมั่นใจได้ว่าจะสามารถมีไลฟ์สไตล์ หรือ คุณภาพชีวิตที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือ ต้องพึ่งพาตัวเองโดยการเก็บออมและบริหารจัดการเงินของเราเอง
เมื่อโจทย์เป็นเช่นนี้ ขอแนะนำว่า เราต้องออมเงินเพื่อเกษียณไว้อีกทาง เพื่อเอาไว้รวมกับเงินบำนาญที่จะได้รับจากประกันสังคม เพราะเอาเข้าจริงๆ เงินหลักพันไม่พอใช้แน่นอนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะ "เศรษฐินีศรีราชา" ที่แพลนการใช้เงินมีเยอะมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ "บ้านพักคนชรา" ที่เอาไว้ดูแลเรายามบั้นปลายชีวิตนั่นเอง
ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun