ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่ม ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ภายใต้ พ.ร.ก.ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สถาบันการเงินไม่ส่งลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะมีหลักประกันไม่เพียงพอ
2.กลุ่มเอสเอ็มอีที่คุณสมบัติไม่เข้าข่าย พ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะไม่เคยขอสินเชื่อหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.62
3.กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แต่มีศักยภาพและมีหนี้สินล้นพ้นตัว
4.ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินเกินกว่า 500 ล้านบาท หรือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดเอ็มเอไอ ซึ่งไม่เข้าข่ายคุณสมบัติของเอสเอ็มอีตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว
โดยกระทรวงการคลังเสนอให้นำเงินซอฟต์โลนจำนวน 10,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 500,000 ล้านบาทของ ธปท.ให้สามารถนำไปปล่อยกู้เอสเอ็มอีกลุ่มที่ 2 ได้ คือไม่เคยขอสินเชื่อหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงินเนื่องจากเงื่อนไขที่สำคัญของเงินกู้ซอฟต์โลนของ ธปท.ได้กำหนดต้องมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ส่วนเอสเอ็มอีกลุ่มที่ 1 และ 3 รวมทั้งกลุ่มที่ 4 ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะไปหารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อออกมาตรการเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการด้านการเงินที่ช่วยเหลืออยู่แล้วซึ่งเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้ เช่น
1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของธนาคารออมสิน วงเงินโครงการคงเหลือ 13,000 ล้านบาท
2.โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน วงเงินโครงการคงเหลือ 7,500 ล้านบาท
3.โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินคงเหลือ 14,000 ล้านบาท
4.โครงการสินเชื่อรายย่อย Extra Cash ของ ธพว. วงเงินโครงการคงเหลือ 9,900 ล้านบาท.