ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐบาลเปิดให้บริการสินเชื่อฉุกเฉินแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ผ่าน 2 ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 บาท โดยให้บริการสินเชื่อฉุกเฉิน 2 ประเภท คือ สินเชื่อผู้มีอาชีพอิสระ วงเงินรายละ 10,000 บาท ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน และ สินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ รายละ 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน โดยต้องมีหลักประกัน
ทั้ง 2 ธนาคารได้เปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของธนาคารปรากฏว่ามีประชาชนสนใจเข้าลงทะเบียนจำนวนมาก โดยเพียงช่วงเช้ามีผู้ลงทะเบียน 3-4 ล้านคนต่อธนาคาร ทำให้ระบบการลงทะเบียนของออมสินล่ม ส่วนของ ธ.ก.ส.ระบบมีความล่าช้าแต่ไม่ถึงกับระบบล่ม และในส่วนของออมสินแม้ว่าได้เปิดช่องทางใหม่ให้สามารถลงทะเบียนได้โดยตรง แต่ก็ยังมีคนเข้ามาจำนวนมากจนต้องแจ้งขอปิดให้บริการเพื่อปรับปรุงและจะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 16 เม.ย. ทั้งนี้ในวันแรกของการลงทะเบียนของออมสินมียอดผู้ลงทะเบียนเงินกู้ฉุกเฉิน 2,462 ราย
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้จัดโครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินในครัวเรือน โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกร วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน นับจากวันกู้ ไม่ต้องใช้หลักประกัน หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน LINE Official BAAC Family พบว่ามีการขัดข้องเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ถึงกับระบบล่ม ล่าสุดมียอดผู้ลงทะเบียนเงินกู้ฉุกเฉิน ธ.ก.ส.ได้รับอนุมัติ ณ วันที่ 15 เม.ย. จำนวน 6,000 ราย วงเงินกู้ 60 ล้านบาท
“เมื่อผ่านการปล่อยกู้ ธ.ก.ส. จะแจ้งการนัดหมายทางข้อความ SMS ตามหมายเลขโทรศัพท์มือถือ โดย ธ.ก.ส.จะเริ่มนัดหมายทำเอกสารและสัญญาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.นี้” นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินได้ปรับเปลี่ยนเวลาเปิดสาขา โดยเปิดทำการเวลา 09.00-15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 16-30 เม.ย.นี้ สำหรับสาขาที่เปิดให้บริการ 5 วันต่อสัปดาห์เป็นกรณีพิเศษในช่วงที่มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19.