“กกพ.” ตัดสินใจทุ่มเงิน 9,000 ล้านบาท เคาะตรึงค่าเอฟทีงวดใหม่ (ก.ย.–ธ.ค.) คงไว้อัตราเดิม ให้เหตุผลดูแลค่าครองชีพประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพง ชี้ยอมแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะหากไม่อุ้มต้องขึ้นค่าเอฟที 16.82 สต.ต่อหน่วย หวั่นกระทบกำลังซื้อภายในประเทศ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในช่วงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการค้าโลก
น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติให้คงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.ไว้อยู่ที่ลบ 11.60 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วยเช่นเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าประชาชนเฉลี่ย ยังอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เท่ากับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาปัญหาค่า ครองชีพของประชาชน
“ในการประชุม ครั้งนี้ กกพ. มีมติให้คงค่าเอฟทีต่อไปอีก 4 เดือน เนื่องจากไม่ต้องการให้ปัจจัยค่าไฟฟ้า เป็นปัจจัยที่มากระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ และกระทบต่อค่าครองชีพของประเทศ และอาจเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่สถานการณ์การส่งออกของประเทศที่ชะลอตัวลง จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะการค้า และเศรษฐกิจโลก”
น.ส.นฤภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากคำนวณต้นทุนต่างๆตามข้อเท็จจริงแล้ว จะมีผลต่อค่าเอฟทีในงวดนี้ให้ต้องปรับขึ้น 16.82 สต.ต่อหน่วย หรือทำให้ค่าเอฟทีจะไปอยู่ที่ 5.22 สต.ต่อหน่วย แต่เนื่องจาก กกพ.ได้มีการบริหารจัดการ เพื่อการตรึงค่าไฟในช่วงนี้ไว้ก่อน ด้วยการใช้เงินเข้ามาดูแลประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้นำเงินมาจากการกำกับประสิทธิภาพการดำเนินงานของการไฟฟ้าในปี 2561 จำนวน 3,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 6,000 ล้านบาท โดยเป็นความร่วมมือกันของ 3 การไฟฟ้า เพื่อช่วยรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นแทนประชาชนไปชั่วคราวก่อน
ขณะเดียวกัน การตัดสินใจไม่ปรับเพิ่มค่าเอฟทีในรอบนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) ถือเป็นการตัดสินใจบริหารจัดการ ภายใต้ปัจจัยหลักๆ ทางด้านต้นทุน ซึ่งยังเป็นขาขึ้นที่ยังคงมีความผันผวน และกดดันต่อค่าเอฟที ภายใต้สมมติฐานที่ประกอบด้วย 1.อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่คาดว่าเท่ากับ 31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออ่อนค่าลงกว่าช่วงที่ประมาณ การในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 4 เดือนอยู่ที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
2.ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ จะเท่ากับ 64,416.20 ล้านหน่วย ซึ่งจะปรับตัวลดลงจากช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.จำนวน 3,966.19 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นการลดลง 5.8% ตามสภาพความต้องการไฟฟ้าที่ลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปี
3.สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 55.78% รองลงมาเป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 18.91% ลิกไนต์ อยู่ที่ 8.79% และถ่านหินนำเข้า 7.93% และ 4.แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 305.20 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 23.75 บาทต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,739.31 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,643.13 บาทต่อตัน เท่ากับ 96.18 บาทต่อตัน.