นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรแจ้งไปยังสถาบันการเงิน เรื่องเงินให้หักภาษี ณ ที่จ่าย จากรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์จำนวนเงินที่เกิน 20,000 บาทต่อปี ว่า ประกาศดังกล่าวของกรมสรรพากรเป็นการเตือนสถาบันการเงินบางแห่งที่ช่วยเหลือลูกค้าให้เสียภาษีน้อยลง โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ซึ่งวิธีการช่วยเหลือลูกค้าแบบนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะตักเตือนไปนานกว่า 2 ปีแล้ว สถาบันการเงินขนาดเล็กบางแห่งก็ยังไม่หยุดพฤติกรรมดังกล่าว
“ที่ผ่านมา กฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของรายได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 อันดับแรก และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่มีสถาบันการเงินขนาดเล็กแนะนำลูกค้าว่าหากมีรายได้ดอกเบี้ยใกล้ 20,000 บาทต่อปี เช่น มีรายได้จากดอกเบี้ย 18,000 บาท ก็เสนอให้ปิดบัญชีเล่มเก่า แล้วเปิดบัญชีเล่มใหม่ เพื่อให้รายได้จากบัญชีเงินฝากในสมุดเล่มนั้น มีไม่ถึง 20,000 บาท หรือไปเปิดบัญชีเงินเล่มใหม่กับสถาบันการเงินแห่งใหม่ เป็นต้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้เท่ากับหลีกเลี่ยงภาษี”
ด้านนายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ค.นี้ สถาบันการเงินทุกแห่งต้องให้ลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ทำหนังสือยินยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ของตัวผู้เสียภาษีเอง ซึ่งการลงนามยินยอมดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยหากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ไม่ถูกหักภาษี แต่หากรายได้เกินกว่า 20,000 บาทต่อปีจะต้องเสียภาษี เป็นไปตามกฎหมายเดิมทุกประการ.