แน่นอนแล้วผู้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี จะถูกเก็บภาษีเงินได้ 15% จากเดิมเฉพาะผู้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 2 หมื่นบาท โดยธนาคารมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ส่งให้กรมสรรพากร แต่กรณีได้ดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่เกิน 2 หมื่นบาท หากทำหนังสือยินยอมกับทางธนาคาร ให้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร จะได้รับการยกเว้นเก็บภาษี
ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุกฎหมายเรื่องการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นเป็นเรื่องปกติที่มีมานานแล้ว และมองว่าสิ่งที่กรมสรรพากรดำเนินการนั้นทำถูกต้องแล้ว เพราะต้องการแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ที่มีเงินฝากสูงเกิน 4 ล้านบาท ที่จะมีรายได้จากดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา มีสถาบันการเงินบางแห่งเอื้อประโยชน์ให้ลูกค้ารายใหญ่หลบเลี่ยงภาษี ณ ที่จ่าย 15% ด้วยการปิดบัญชี เมื่อรายได้จากดอกเบี้ยใกล้ถึง 2 หมื่นบาท ก่อนไปเปิดบัญชีใหม่ และกระจายแยกบัญชีออกจากกัน โดยยอมรับจะกระทบกับผู้มีบัญชีออมทรัพย์รายใหญ่มากกว่าประชาชนรายย่อย ซึ่งผู้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 2 หมื่นบาท จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี
นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า ได้หารือกับสถาบันการเงินมากว่า 2 ปี และหลังจากนี้สถาบันการเงินจะต้องไปหาแนวทางจัดส่งข้อมูลดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ของลูกค้า มาให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ปีละ 2 ครั้ง ในเดือน พ.ค. และ เดือน พ.ย. เพื่อนำรายได้จากดอกเบี้ยดังกล่าวมาคำนวณภาษี และเสียภาษีในช่วงสิ้นปี
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ มาให้ความยินยอมกับสถาบันการเงินที่มีเงินฝาก ให้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร แม้มีประชาชนกว่า 99% จะไม่ได้รับผลกระทบก็ตาม แต่ควรมาแสดงความยินยอม เพราะหากไม่ดำเนินการจะมีภาระเสียภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 15% ทันทีโดยอัตโนมัติ แม้ได้ดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่เกิน 2 หมื่นบาท ก็ตาม และสามารถขอคืนภาษีดังกล่าวในช่วงปลายปีได้.