นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้นค่าเช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ทั้งประเทศ โดยคิดตามผลตอบแทนต่อมูลค่าสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งจะปรับให้ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2% โดยจะทยอยปรับขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์ในปีงบประมาณ 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนหน้าที่สามารถจัดเก็บรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าเช่าที่ราชพัสดุดังกล่าว จะดำเนินการกับผู้เช่าที่สัญญาเดิมครบกำหนดก่อน โดยสัญญาเช่าส่วนใหญ่มีอายุ 10-30 ปี ซึ่งปัจจุบันกรมธนารักษ์มีที่ราชพัสดุรวม 12 ล้านไร่ เป็นการเช่าเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยประมาณ 80% ซึ่งในส่วนนี้จะยังไม่มีการปรับขึ้นค่าเช่าแน่นอน ที่เหลืออีก 20% เป็นที่เช่าเพื่อการพาณิชย์มีอยู่ประมาณ 50,000 สัญญาทั่วประเทศ “หากคิดรายได้ค่าเช่าที่ราชพัสดุทั้งหมดของกรมธนารักษ์ตามหลัก ROA จะอยู่ต่ำกว่า 1% เพราะส่วนใหญ่เป็นการให้เช่าเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัย ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่มีนโยบายปรับขึ้น เพราะเงินที่ได้เพิ่มมาอยู่หลักร้อยล้านบาท ไม่คุ้มเมื่อเทียบกับความเดือดร้อนที่ผู้เช่า”
ส่วนการปรับค่าเช่าเชิงพาณิชย์กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หรือ ทอท.ในการเช่าพื้นที่ราชพัสดุของสนามบินสุวรรณภูมิ จะคิดตาม ROA และจะใช้วิธีการคำนวณในลักษณะเดียวกันกับสนามบินในประเทศแห่งอื่นๆที่เหลืออีก 6 แห่ง
นายอำนวย กล่าวต่อว่า การคิดค่าเช่าที่ราชพัสดุของรัฐวิสาหกิจต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เช่น การเช่าที่ราชพัสดุ ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะใช้วิธีคิดแบบ ROA เหมือน ทอท.ไม่ได้ เพราะถือเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่การปรับขึ้นค่าเช่า จะส่งผลกระทบกับผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ส่วนโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิต หลัง ครม.มีมติเห็นชอบให้กรมธนารักษ์แก้ไขสัญญาการเช่ากับบริษัท บางกอกเทอร์มินอล (BKT) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาทำสัญญาและพิจารณาราคาเช่าต่อไป.