สั่งแก้ฐานะ "ชุมนุมสหกรณ์" ก่อนวิกฤติ ปัญหารุมเร้าส่อขาดสภาพคล่อง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สั่งแก้ฐานะ "ชุมนุมสหกรณ์" ก่อนวิกฤติ ปัญหารุมเร้าส่อขาดสภาพคล่อง

Date Time: 5 ก.ย. 2561 10:10 น.

Summary

  • ในการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นความคืบหน้าการกำกับดูแลสหกรณ์ ได้มีการพิจารณาปัญหาของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ซึ่งพบว่ามีสถานะเงินสดและเงินฝากในธนาคารต่ำ

Latest

กกร. ถก ธปท. แก้ปญหาเอสเอ็มอี ลดเงินส่งกองทุนฟื้นฟู-เพิ่มทางเข้าถึงสินเชื่อ

สินทรัพย์ติดค้ำประกัน-ลงทุนเสี่ยง

นายพิเชษฐ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นความคืบหน้าการกำกับดูแลสหกรณ์ ได้มีการพิจารณาปัญหาของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ซึ่งพบว่ามีสถานะเงินสดและเงินฝากในธนาคารต่ำ ขณะที่หลักทรัพย์มากกว่า 80% ติดภาระค้ำประกัน ไม่สามารถนำมาใช้เป็นสภาพคล่องได้ ทั้งนี้ รวมไปถึงการจัดหาเงินมาชำระหนี้สถาบันการเงินที่ ชสอ.กู้มา ซึ่งจะถึงกำหนดชำระในอีก 3 เดือน จำนวน 14,209 ล้านบาท อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ชสอ.แก้ปัญหาโดยการระดมทุนเรือนหุ้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ควรระวังภาระค่าใช้จ่าย เรื่องเงินปันผลที่จะต้องจ่ายมากขึ้นตามมา

“สินทรัพย์ปัจจุบัน ชสอ. คือ เงินกู้แก่สหกรณ์สมาชิกมากกว่า 70% ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์เห็นควรระมัดระวังความสามารถการชำระหนี้ของสหกรณ์สมาชิก โดยให้ดูคุณสมบัติหรือวิธีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้รอบคอบมากขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ควรจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ไม่ปกติ และประเมินนโยบายการจัดหาแหล่งทุนและนำเงินไปใช้เพื่อให้สหกรณ์มีความมั่นคงและเป็นที่พึ่งสหกรณ์สมาชิกได้”

นายพิเชษฐกล่าวต่อว่า ควรจะตรวจสอบวิธีการพิจารณาสินเชื่อของ ชสอ. ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบว่า สหกรณ์สมาชิกที่ได้ให้เงินกู้ไปก่อนหน้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ชสอ.ได้กำหนดไว้ทุกสหกรณ์หรือไม่ หากมีการผิดชำระหนี้จะส่งผลถึงการดำเนินงานและสภาพคล่องของ ชสอ.อย่างไร และควรมีการประเมินความเหมาะสมของสัดส่วนการปล่อยกู้ระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ ชสอ. มีทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานมากขึ้น โดยพบว่าหลักทรัพย์ที่ ชสอ.ลงทุนส่วนมากคือ หุ้นกู้ของภาคเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจที่สหกรณ์ไม่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้การประเมินผลก่อนการลงทุนอาจผิดพลาด และแม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีเรตติ้งดี จากบริษัทจัดเรตติ้งที่ได้รับความน่าเชื่อถือ แต่หุ้นกู้ที่ ชสอ.ซื้อไม่ได้รับประกันว่าผลการดำเนินการในอนาคตจะดีเหมือนเดิมหรือไม่

“ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ ขณะที่การลงทุนในหุ้นกู้นั้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งปัจจุบันในตลาดโลกดอกเบี้ยมีแนวโน้มการปรับขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่หุ้นกู้ที่สหกรณ์ลงทุนนั้นมีมูลค่าลดลง นอกจากนี้ หลักทรัพย์ของสหกรณ์ส่วนใหญ่นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี ทำให้การไถ่ถอนหลักทรัพย์ต้องใช้เงินจำนวนมาก และหากเกิดภาวะวิกฤติมูลค่าหุ้นกู้ลดต่ำลง ชสอ. อาจไม่มีสภาพคล่องในการไถ่ถอนหลักทรัพย์ ทำให้การลงทุนของสหกรณ์ขาดทุนได้ หรือเกิดภาวะวิกฤติได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ