น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มี.ค. ว่า เท่ากับ 101.12 สูงขึ้น 0.79% เทียบกับเดือน มี.ค.2560 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2560 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.17% แต่เมื่อเทียบเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ลดลง 0.09% เป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 2 จากเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ลดลง 0.23% ส่วนเฉลี่ย 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปีนี้สูงขึ้น 0.64% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.79% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.13% สินค้าสำคัญๆมีราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมัน เพิ่ม 2.61% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 5.95% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่ม 1.43% หมวดอาหาร, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.19% หมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 0.63% โดยเฉพาะราคาข้าวสารเจ้าที่ราคาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 30 เดือน อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.20% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 0.92% เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อพบว่า มีสินค้าราคาสูงขึ้น 133 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ราคาเพิ่ม 1.57% และสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 178 รายการ
“การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 5-22 บาท ที่มีผลวันที่ 1 เม.ย.นี้ ทำเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้นน้อยมาก โดยเงินเฟ้อไตรมาส 2 คาดว่าขยายตัว 1.06% ส่งผลให้เงินเฟ้อทั้งปีอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้คือ ขยายตัว 0.7-1.7% แต่ค่าเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 1.14%”
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้เชิญผู้ผลิตสินค้าสำคัญๆ มาหารือเพื่อรับทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่า แทบไม่ได้รับผลกระทบ เพราะบางสินค้าได้จ้างแรงงานราคาสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่มีสินค้าบางรายการที่ได้รับผลกระทบ เพราะใช้แรงงานจำนวนมาก ล่าสุด ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามว่า สินค้าที่ได้รับผลกระทบ หากจะปรับขึ้นราคาขาย ต้องสอดคล้องกับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น.