นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่จะเป็นการสร้างฐานการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วยว่ามีการนำภาษีที่เก็บได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นหรือไม่ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากกฎหมายดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ อปท. โดยประเมินว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้ อปท.สามารถจัดเก็บรายได้ปีละ 28,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งถือว่าไม่มาก เพราะรัฐบาลก็ยังคงให้การอุดหนุนรายได้ให้กับท้องถิ่นอยู่
“ขณะนี้คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 2 ซึ่งได้ขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จนถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะส่งให้ สนช.พิจารณาในวาระ 3 ได้ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือน ม.ค.2562”
ทั้งนี้การขยายเวลาพิจารณาของ สนช.นั้น เป็นเพราะมีรายละเอียดหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งมีภาษีสูงถึง 90% ดังนั้นต้องคิดจากข้อมูลการเสียภาษีจริงในปัจจุบันด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีภาระภาษีที่เหมาะสม ส่วนการยกเว้นภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยได้ลดลงมาเหลือ 20 ล้านบาท จะทำให้มีผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2% จากเดิมมีข้อเสนอให้เว้นภาษีที่ 50 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียภาษีเพียง 1% ของ 20 ล้านครัวเรือน
นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อัตราภาษีที่จัดเก็บมีการเสนอให้จัดเก็บแบบขั้นบันได เหมือนกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) คือ ยิ่งรวยก็ยิ่งเสียภาษีมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่อัตราภาษีแบบบันไดจะไม่สูงมากนัก เพราะกฎหมายนี้ถือเป็นประเภทภาษีใหม่ที่เก็บบนฐานของราคาทรัพย์สิน เช่น บ้านราคา 30 ล้านบาท ได้รับยกเว้น 20 ล้านบาทแรก จึงให้นำวงเงิน 10 ล้านบาท มาคำนวณแบบขั้นบันได หากเก็บภาษี 0.02% คิดเป็นภาระภาษีประมาณ 2,000 บาทต่อปี มองว่าหากคนมีรายได้สูงขนาดนั้น อาจไม่เป็นภาระมากนัก แต่สำหรับที่ดินเกษตรกร และร้านค้าเชิงพาณิชย์ อัตราภาษีที่จัดเก็บก็ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมและความเต็มใจ ซึ่งจากเดิมก็มีการเสียภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้ว แต่ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้ได้น้อยมาก.