ทิสโก้คาดเศรษฐกิจปี 68 โต 3% ยอมเสี่ยงสูงขึ้นลุยขยายพอร์ตเจาะ “รายย่อย” ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่โต 10%

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทิสโก้คาดเศรษฐกิจปี 68 โต 3% ยอมเสี่ยงสูงขึ้นลุยขยายพอร์ตเจาะ “รายย่อย” ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่โต 10%

Date Time: 14 ม.ค. 2568 17:58 น.

Video

"ROCTEC กับการเติบโตครั้งสำคัญ เมื่อ BTS เข้าถือหุ้น" | Money Issue

Summary

  • ทิสโก้ คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 3% หวังการลงทุนรัฐ-เอกชน และภาคท่องเที่ยวหนุน ยอมเสี่ยงสูงขึ้น ลุยขยายพอร์ตสินเชื่อต่อ หวังยอดปล่อยสินเชื่อรถใหม่โตอย่างน้อย 10% รับอาจต้องตั้งสำรองเพิ่ม

Latest


บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TISCO แถลงกลยุทธ์ปี 2568 คาดปีนี้เศรษฐกิจไทยโตได้ 3% จากการลงทุนภาครัฐ-เอกชน และภาคการท่องเที่ยวหนุน ชี้ยอมเสี่ยงสูงขึ้นลุยขยายพอร์ตสินเชื่อหลังแนวโน้ม Credit Cost ต่ำลง หวังยอดปล่อยสินเชื่อรถใหม่โตไม่ต่ำกว่า 10% (Double digit) รับอาจมีการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรอง แต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี ผู้บริหารมองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และมาตรการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง แต่ยังไม่สามารถช่วยสร้างการเติบโตที่มั่นคงในวงกว้าง

เปิดกลยุทธ์ปี 2568 “ยอมเสี่ยงสูงขึ้น” ลุยขยายพอร์ตสินเชื่อใหม่

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2568 ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทายสูง และต้องดำเนินการอย่างรอบคอบในทุกมิติ ดังนั้น บริษัทจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลยุทธ์ที่คำนึงถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วนราว 70% ของสินเชื่อรวม โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง รถจักรยานยนต์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกประเภท ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้”

โดยบริษัทจะมุ่งเน้นในการขยายพอร์ตสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จาก Credit Cost หรือต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งคาดหวังว่ายอดปล่อยสินเชื่อรถใหม่จะสามารถเติบโตได้เกิน 10% (Double digit) ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความท้าทาย

ขณะเดียวกัน บริษัทอาจมีการทยอยตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในปีนี้ ตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมุ่งเน้น แต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ราว 1.7% ขณะที่หนี้เสีย (NPL) มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่บริษัทจะมีการบริหารที่ครอบคลุมความเสี่ยงซึ่งจะควบคุมไว้ไม่ให้เกิน 3%

ทั้งนี้จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานของสาขา โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพทางเครดิต และให้ความช่วยเหลือดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด

พร้อมขยายบริการสินเชื่อบ้านและที่ดินแลกเงินไปยังสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” เพื่อตอบสนองความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ให้บริการเฉพาะสาขาธนาคาร ส่วนธุรกิจสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ จะมุ่งเน้นเติบโตในกลุ่มที่ทิสโก้มีความชำนาญ รวมถึงขยายไปยังกลุ่มธุรกิจกระแสใหม่ (S-Curve) ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่นเดียวกับธุรกิจสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) จะขยายวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (Floor Plan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้า พร้อมมองหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ

ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ในปี 2568 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3% จากแรงหนุนของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าวยังคงเปราะบางและเผชิญกับความไม่แน่นอน จากทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และคุณภาพลูกหนี้ที่ถดถอย

อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและมาตรการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” จะมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง แต่ยังไม่สามารถช่วยสร้างการเติบโตที่มั่นคงในวงกว้าง

เร่งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม ผ่าน 5 ธุรกิจในมือ

เมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจธนบดีและตลาดทุน จะมุ่งเน้นการให้คำปรึกษาทางการเงินแบบองค์รวม (Holistic Financial Advisory) ครอบคลุมทั้งบริการที่ปรึกษาการเงิน การลงทุน ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ การวางแผนเกษียณ และการวางแผนมรดก เพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า

ขณะเดียวกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มุ่งเน้นยกระดับบริการการวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยจับมือกับพันธมิตรชั้นนำ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 14 แห่ง และบริษัทประกัน 11 แห่ง เพื่อคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายโดยไม่จำกัดค่าย ควบคู่กับการให้คำแนะนำที่ผสานระหว่างที่ปรึกษาทางการเงินและโปรแกรมวางแผนการเงิน TISCO My Goal

ด้านธุรกิจบริหารจัดการกองทุน (Asset Management) มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แก่ลูกค้า พร้อมขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และ Agent Network รวมถึงต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการไปในกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์ (Securities Brokerage) เพิ่มโอกาสการลงทุนที่ง่ายและสะดวกให้กับลูกค้า พร้อมกระจายรายได้จากการให้บริการใหม่ ๆ โดยนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ ร่วมกับการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ลูกค้า

และธุรกิจประกันภัย (Bancassurance) มุ่งพัฒนาและคัดสรรผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คุ้มค่า ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในเชิงลึก ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทพันธมิตรประกันภัยชั้นนำ โดยที่บริษัทจะคำนึงถึงความเหมาะสมกับความเสี่ยงและสถานะทางการเงินของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด สามารถช่วยลูกค้าบริหารความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

กำไรปี 2567 ลด 5.5% รับตั้งสำรองเพิ่ม-พอร์ตสินเชื่อหด

ทั้งนี้ TISCO รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า กำไรสุทธิสำหรับผลประกอบการงวดปี 2567 ของบริษัทมีจำนวน 6,901.28 ล้านบาท ลดลงจำนวน 399.84 ล้านบาท หรือ 5.5% เมื่อเทียบกับปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มสำรองเพื่อกลับสู่ระดับปกติ พร้อมทั้งเพื่อรองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อปรับลดลง พร้อมกับรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าประกันภัยอ่อนตัวลง ส่วนค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ชะลอตัว เป็นไปตามภาวะตลาดทุนที่ผันผวนและปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ซบเซา

สำหรับรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 2.3% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากปีก่อนหน้า จากการบริหารผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ชดเชยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น 29.4% ตามการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝาก

ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 8.4% ส่วนใหญ่มาจากผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ด้านธุรกิจหลัก ค่าธรรมเนียมรวมของธุรกิจจัดการกองทุน เติบโต 5.5% จากการขยายตัวของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการ (Performance Fee) ในช่วงสิ้นปี

นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO)

กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน (Basic earnings per share) สำหรับงวดปี 2567 เท่ากับ 8.62 บาทต่อหุ้น ลดลงจาก 9.12 บาทต่อหุ้นในงวดปี 2566 และบริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) ของปี 2567 อยู่ที่ 16.1%

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment 
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ