ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศให้หุ้น NOK หรือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ประกาศให้ซื้อขายหุ้น NOK ได้วันนี้เป็นวันซื้อขายวันสุดท้ายของหุ้นก่อนที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ NOK ถูกเพิกถอนพ้นจากตลาดหุ้น เพราะบริษัทไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหมดไปหรือให้มีคุณสมบัติกลับมาซื้อขายได้ภายในระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด วันนี้ Thairathmoney จะชวนมาย้อนรอย 11 ปีของหุ้น NOK ที่เคยโลดแล่นในตลาดหุ้นไทย สู่วันที่ต้องพ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน
NOK เคยเป็นหนึ่งในความหวังของหุ้นในกลุ่มสายการบินของไทย ภายใต้การนำของ นายพาที สารสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ NOK ในเวลานั้น โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 20 มิ.ย. 2556 โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาการเงิน กำหนดราคาไอพีโอไว้ที่ 26 บาทต่อหุ้น
ซึ่งในเวลานั้น NOK ถูกมองว่ามีการเติบโตที่สูงมาก จากกำไรเฉลี่ยที่เติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรม จนในเวลานั้น บทวิเคราะห์ของ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ราคาที่เหมาะสมกับ NOK ไว้ที่ 44 บาท
อย่างไรก็ตาม NOK เจอภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของกลุ่มสายการบินราคาประหยัด การเข้ามาของสายการบินในต่างประเทศ ทางเลือกของผู้ใช้บริการนั้นมีมากขึ้น ทำให้สายการบินนกแอร์เจอปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ก่อนที่บริษัทจะมาอยู่ในกลุ่มของ จุฬางกูร เข้ามาถือหุ้นใหญ่กว่า 74.96% เจอกับปัญหา Covid-19 จะเข้ามาแพร่ระบาดซ้ำ จนทำให้ NOK ต้องขอฟื้นฟูกิจการในที่สุด
อย่างไรก็ตามในด้านผลประกอบการนั้น NOK ได้แจ้งผลประกอบการบริษัทในช่วง 9 เดือนแรก พลิกมีกำไร โดยได้รายงานว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จำนวน 1,411 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุนสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ 1,279.4 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2,690.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 210.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.38 บาท ขณะที่ขาดทุนต่อหุ้นในปีที่แล้วอยู่ที่ (0.34) บาท ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีนั้นมีข้อสังเกตในงบการเงิน
โดยความคืบหน้าปัจจุบัน NOK อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ โดยได้มีการยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท บริษัทฯ ขอเรียนว่า การขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารแผนสามารถดำเนินการตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงิน ตลอดจนดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนธุรกิจในระยะยาวของบริษัทฯ และความสามารถในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทฯ โดยมีสาระสำคัญ เช่น
1. แก้ไขเพิ่มเติมภาพรวมของอุตสาหกรรม แผนธุรกิจและฝูงบิน ตลอดจนประมาณการทางการเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการ
2. แก้ไขเพิ่มเติมวงเงิน แนวทาง และวิธีการกู้ยืม และการระดมทุน
3. แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 (เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าเครื่องบินสำหรับสินทรัพย์ที่นกแอร์ได้ดำเนินการโดยตรง) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 (เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าเครื่องบินสำหรับสินทรัพย์ที่บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการโดยตรง) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 (เจ้าหนี้ค่าตอบแทนตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารค้างจ่าย) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 (เจ้าหนี้ทางการค้า) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 9 (เจ้าหนี้องค์กร/หน่วยงานราชการ) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 (เจ้าหนี้เงินกู้ยืม) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 12 (เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 14 (เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาที่ยังมีข้อพิพาท)
4. แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไข และวิธีการชำระหนี้ก่อนกำหนด
5. แก้ไขระยะเวลาการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยขอขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผน (ครั้งแรก) เป็นเวลา 1 ปี รวมระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนเป็นไม่เกิน 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
6. แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขแห่งผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ
7. เพิ่มเติมอำนาจของผู้บริหารแผนให้มีความชัดเจน และครอบคลุมต่อการดำเนินกิจการของบริษัทฯ
โดยต้องติดตามว่า การแก้ไขวิกฤติของ NOK ในครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารถกลับมามีความแข็งแกร่งและกลับมาตลาดหุ้นไทยอีกครั้งได้หรือไม่
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่