“อัสสเดช คงสิริ” เปิดแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“อัสสเดช คงสิริ” เปิดแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม

Date Time: 23 ธ.ค. 2567 05:00 น.

Summary

  • ท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ การเมือง และตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความผันผวน ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกประเทศ สร้างผลกระทบทั้งในด้านบวกและแง่ลบต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย

Latest

ไทยออยล์ แจงผลกระทบ CFP เลื่อนเดินเครื่องปี 71 ฉุด IRR ลด ไม่เพิ่มทุน-ไม่กระทบปันผล

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ การเมือง และตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความผันผวน ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกประเทศ สร้างผลกระทบทั้งในด้านบวกและแง่ลบต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ขณะที่ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตลอด 2–3 ปีที่ผ่านมาได้เผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

การขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทย ภายใต้การกุมบังเหียนของ “อัสสเดช คงสิริ” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนที่ 14 ที่เพิ่งรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ก.ย.67 จะมีทิศทางอย่างไร หลังวันที่ 28 พ.ย.67 ที่ผ่านมา เขาได้แถลงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (ปี 2568-70) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้มีโอกาสพูดคุยรายละเอียดกับ “อัสสเดช” อีกครั้งหลังจากนั้น มาดูรายละเอียดกันอีกครั้งว่า ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนล่าสุด ที่นั่งคุมบังเหียนเป็นหัวหน้าทีมบริหารและฝ่ายปฏิบัติการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้วางกลยุทธ์ในการบริหารและขับเคลื่อนตลาดทุนไทย ที่ถือเป็นเสาหลักสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยไว้อย่างไร!!

โดย “อัสสเดช” เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (ปี 2568–70) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ตนได้ร่วมจัดทำกับทีมผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มี “กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” เป็นประธานบอร์ดนั้น อยู่ภายใต้แนวคิด “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม” (Fair and Inclusive Growth) ที่มุ่งสร้างความแข็งแกร่ง เข้าถึงได้ง่าย และสร้างประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน เพราะเห็นว่ายังมีอีกหลายส่วนที่เพิ่มความเท่าเทียมได้ ขณะเดียวกันเป็นการสร้างโอกาสให้คนเข้าถึงตลาดทุนไทยได้มากขึ้น

เปิด 3 กลยุทธ์ขับเคลื่อนตลาดทุน

แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ในการขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์ฯที่สำคัญ ดังนี้ 1.มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously) 2.ร่วมพัฒนาเพื่อความทั่วถึง (Grow Together and Inclusively) 3.สรรค์สร้างคนและอนาคต (Groom People and Our Future)

โดย 3 กลยุทธ์หลักนี้ จะดำเนินการผ่าน 3 โครงการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ได้แก่ 1.สนับสนุนการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ผ่านโครงการ Jump+ 2.เพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลและประชาชนเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรของรัฐได้ง่ายขึ้น และขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาดด้วยการพัฒนา Bond Connect Platform และ 3.พัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนผ่านตลาดคาร์บอนเครดิต ด้วย Carbon Market Platform

โดยกลยุทธ์แรก 1.มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต เพิ่มความน่าสนใจลงทุนใน บจ.ไทยนั้น จะริเริ่มโครงการ “Jump+” โดยการเข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับ บจ.ในการสร้างการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน โดยเน้นบริษัทที่มีศักยภาพ และให้ บจ.เข้าร่วมตามความสมัครใจ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะส่งเสริมการดำเนินงาน,การขับเคลื่อนความยั่งยืน ESG, การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้คำปรึกษา และเพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้ลงทุน รวมทั้งเตรียมพัฒนาดัชนีใหม่ที่ช่วยสะท้อนผลดำเนินงานของ บจ.ที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ Jump+ ร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์ (IAA) ในการจัดทำบทวิเคราะห์ ช่วยการตัดสินใจลงทุนในบริษัทเหล่านี้

“อัสสเดช” ได้ขยายความของโครงการ “Jump+” ว่า ดัชนีหุ้นไทยเคยขึ้นไปสูงถึง 1,700-1,800 จุด แต่ปัจจุบันลงมาอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายก็ลดลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทุกคนคิดว่าตลาดหุ้นไทยจะไปได้ถึง 2,000 จุด แต่วันนี้อยู่ที่ 1,450 จุด แต่เมื่อเทียบ P/E หรืออัตราส่วนของราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 20 เท่า ซึ่งเป็น P/E ที่สูงที่สุดในเอเชีย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพคล่องในการซื้อขายที่สูง ซึ่งมาจากการเข้ามาซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ แต่การที่จะดันให้ดัชนีขยับไปที่ 2,000 จุด P/E ต้องเพิ่มขึ้นถึง 40% แต่ถ้าดูข้อมูลย้อนหลัง 5-10 ปี กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 2%

ถ้าดูบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯเทียบกับยุโรป 100 บริษัทที่มีการเติบโตใน 50 ปี โดย 100 บริษัทในสหรัฐฯมีการเปลี่ยนแปลง 80-90% โดยมีชื่อของธุรกิจ หรือบริษัทใหม่ๆเข้ามามากขึ้น ขณะที่ยุโรปไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังเป็นชื่อบริษัทเดิมๆอยู่ 89% จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นเหมือนสหรัฐฯ แต่สิ่งดีที่เห็นคือ ตลาดหลักทรัพย์ mai มีบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตและกระโดดเข้ามาอยู่ใน SET หรือตลาดหลักทรัพย์ฯกว่า 60 บริษัท ทำให้เราเห็นว่ามีคนพยายามต้องการทำให้ธุรกิจเติบโตมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถือเป็นตัวอย่างที่ดีของโครงการ “Jump+”

หนุนการซื้อ–ควบรวมกิจการ

“โครงการ “Jump+” คือ ช่วยบริษัทให้มีการเติบโต กระโดดได้เหมือน 60 บริษัททำให้บริษัทหรือธุรกิจใหม่ๆใหญ่ขึ้น แทนบริษัทเก่าๆ ถ้าบริษัทเก่าโตได้ก็ยิ่งดี ดังนั้น กลไกที่จะช่วยเหลือจูงใจ คือนำองค์ประกอบในตลาดทุนมาช่วยให้คำปรึกษาจากประสบการณ์ของคนอื่นๆที่ประสบความสำเร็จ การลดต้นทุนต่างๆ และให้บริษัทเชื่อมโยงกับนักลงทุนมากขึ้น เช่น “Opportunity Day” ใครเข้าโครงการนี้จะได้พรีเมียมสลอต และที่สำคัญ คือการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาบริการให้คำปรึกษา ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และการรับรู้ให้แก่ผู้ลงทุนในและต่างประเทศได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ยังสนับสนุนนักวิเคราะห์ให้มาโฟกัสบริษัทในโปรแกรมนี้มากขึ้น โดยขณะนี้เรากำลังศึกษาบริษัทเทคโนโลยี 2 รายที่ทำได้แล้ว โดยใช้ AI สร้างรีพอร์ตได้ง่าย เพื่อให้นักวิเคราะห์นำไปต่อยอด ลดต้นทุนของอุตสาหกรรม โดยเราจะตั้งกรอบเป้าหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น และในระยะยาวเขาต้องพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน รวมถึงการทำ Merger and Acquisition (M&A) การควบรวมกิจการ และการเข้าซื้อกิจการ จะทำให้สะดวกง่ายขึ้น และได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยเรื่องนี้ได้หารือกับประธานบอร์ดแล้ว”

“อัสสเดช” กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้บริษัทที่อยู่นอกตลาด ยังทำบัญชี 2 หรือบัญชี 3 การจะเข้าไปซื้อกิจการอาจติดปัญหาเรื่องบัญชี หากโดนเก็บภาษีย้อนหลังจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ถ้าภาครัฐปล่อยก็จะเสียประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้

ขณะที่ บจ.ในตลาดหุ้นก็อยากขยายธุรกิจ ทั้งการควบรวมกิจการ สร้างแบรนด์ เพิ่มกำลังการผลิต ลงทุนมากขึ้น ในต่างประเทศการทำ M&A ถือว่ามีประโยชน์มาก และส่งผลดีต่อที่ปรึกษาการเงิน (FA) การสนับสนุน M&A จึงเป็นเรื่องสำคัญ ภายในปีหน้าจะมีความชัดเจน เบื้องต้นคาดจะมีบริษัทเข้าโครงการ “Jump+” 50 บริษัท

นอกจากการสร้างการเติบโตให้ บจ.แล้ว เรายังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยจะมีการนำ AI มาช่วยในการกำกับ บจ. และแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนให้ทันท่วงทีเมื่อมีเหตุหรือปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งยังเพิ่มความรู้ด้าน CG ให้กับบอร์ดและผู้ตรวจสอบ (IA, Auditor) เพื่อสร้างบรรษัทภิบาลให้กับ บจ. รวมถึงการประเมินประสิทธิผล พร้อมทบทวนมาตรการให้สอดคล้องบริบทปัจจุบัน

สร้างตลาดรองซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล

กลยุทธ์ที่ 2 ร่วมพัฒนาเพื่อความทั่วถึง ที่มุ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลและประชาชนเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล และขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ด้วยโครงการพัฒนา Bond Connect Platform เพื่อสร้างตลาดรองในการซื้อขายพันธบัตรสำหรับประชาชน หรือนักลงทุนทั่วไป ทำให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกและตลาดรองได้ง่ายขึ้น โดยสามารถจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรก เหมือนการจองซื้อหุ้น IPO และยังซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองผ่าน Bond Connect Platform และสามารถนำพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้

นอกจากนี้ ยังต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เช่น การพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใหม่ (SET Clear) ที่กำหนดเริ่มให้บริการในปี 70 และขยายความร่วมมือในรูปแบบ IT service partnership อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาด

ที่สำคัญยังมุ่งเน้นการขยายการสื่อสารแก่ผู้ลงทุนและประชาชน โดยเน้นการสื่อสารที่เข้าถึงทั่วถึงสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ผู้ลงทุนควรรู้แบบเข้าใจง่ายและทันการ ผ่านช่องทางใหม่ๆด้วยสื่อและกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร พร้อมเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพหลอกลงทุนในรูปแบบต่างๆ

“อัสสเดช” ได้ขยายความถึงโครงการสร้างตลาดรอง Bond Connect Platform ว่า เป็นไอเดียดั้งเดิมที่ตนเสนอเข้ามาตอนสมัครเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้จัดการตลาดหุ้น เพราะจากข้อมูลที่คนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ Bond หรือพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด ปลอดภัยกว่าการลงทุนในหุ้นด้วย แต่นักลงทุนทั่วไปหรือบุคคลธรรมดาอาจยังเข้าถึงไม่มากนัก เพราะการซื้อขายต้องผ่านสถาบันการเงินทั้งหมด และยังซื้อขายเปลี่ยนมือยาก

ทำให้โครงการ Bond Connect Platform จะช่วยตอบโจทย์ ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญหากต้องการใช้เงิน ก็มีตลาดรองให้ขายเปลี่ยนมาเป็นเงินสดได้โดยไม่ต้องถือจนพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน เพราะสามารถขายใน Platform ของตลาดหลักทรัพย์ฯได้ โดยจะเป็นราคาตามดีมานด์-ซัพพลายที่แท้จริง และยังทำให้มีความคล่องตัวในการซื้อขายด้วย

“ที่ผ่านมาเราเน้นให้คนออม แต่การออมอย่างเดียวไม่พอ ถ้าต้องการใช้เงินหรือวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การลงทุนใน Bond ถือเป็นหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ปลอดภัยที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ก่อนเกษียณหรือวัยเกษียณ ซึ่งได้ปรึกษากับกระทรวงการคลัง ก็พร้อมสนับสนุน เป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่อยากให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐ ที่ผ่านมาพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐจะถูกกองทุนเข้ามาซื้อเกือบทั้งหมด เพราะถูกออกแบบมาเช่นนั้น ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐจะออกเป็นซีรีส์อยู่แล้ว จึงอยากให้ออกมาเยอะขึ้น ให้ประชาชนสามารถจับจองผ่านกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ฯได้ จากเดิมที่ต้องเป็นลูกค้าแบงก์อย่างเดียวที่สามารถจองได้”

สั่งซื้อขาย BOND ผ่านโบรกเกอร์

สำหรับการจัดสรรอาจเป็นการสุ่ม (Random) หรือจัดสรรตามวิธีการ Small Lot First คือให้เข้าถึงได้กระจายมากขึ้น หากจองซื้อรอบแรกไม่ได้ ก็ยังเข้าไปซื้อขายในตลาดรองหรือ Bond Connect Platform ได้ โดยกำหนดให้ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งต้องการให้เป็นรูปแบบ “รีเควสท์ ฟอร์ โค้ด” มากกว่าเป็นกระดานขายหุ้น

“มีคนมาฝากซื้อ–ฝากขาย มาเจอกัน ที่สำคัญการซื้อขายไม่ต้องไปล็อกอินแพลตฟอร์มใหม่ให้วุ่นวาย เข้ามาในบัญชีโบรกที่มีอยู่แล้ว เรายังเห็นโอกาสเพิ่มจำนวนนักลงทุนในประเทศให้เยอะขึ้น โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักลงทุนใหม่ รวมถึงขนาดการลงทุนที่จะดีไซน์ให้สามารถลงทุนในวงเงินขนาดเล็ก”

เรากำลังเติมซัพพลายเข้าไปในระบบ และต้องเพิ่มดีมานด์เข้าไปรองรับ เมื่อคนเข้าใจมากขึ้นก็จะเกิดความคล่องตัว ที่สำคัญต้องมีมาร์เกตเมกเกอร์เข้ามาดูแลตลาดนี้ เพื่อให้มีสภาพคล่อง ขณะที่บางคนอาจซื้อ BOND เพื่อทำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อที่จะไปเทรดอย่างอื่น ซึ่งจะช่วยเสริมตลาดหุ้นปกติ เพราะเป็นหลักประกันที่มีความปลอดภัยที่สุดในประเทศ

ส่วนปริมาณหรือวอลลุ่มการซื้อขายจะเป็นเท่าไหร่ เรากำลังศึกษา เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่คิดว่าการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐต้องถือจนหมดอายุ ฉะนั้น ต้องทำให้เปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสื่อสาร ช่วงเริ่มต้นจะเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐ ส่วนหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนในอนาคตมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ แต่หุ้นกู้ของบริษัททั่วไปต้องคิดให้รอบคอบ เพราะยังมีความเสี่ยง ต้องมีการจัดการเวลาที่เกิดปัญหา

สร้างคนรุ่นใหม่สู่ตลาดทุน

สำหรับ กลยุทธ์ที่ 3 สรรค์สร้างคนและอนาคต โดยพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน โดยภารกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเป้าหมายสร้างคนรุ่นใหม่ (Next Gen) ทั้งผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน ภาคการศึกษา และ Influencer ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุน

นอกจากนี้ยังสร้างและนำเสนอ SET Learn Scape Platform เพื่อพัฒนาบุคลากรของ บจ. ช่วยสร้างศักยภาพพนักงาน เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจให้ยั่งยืน โดยทั้ง 2 โครงการจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน นำเสนอความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้มกันด้านการเงินการลงทุน

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯยังมุ่งเตรียมพร้อมบุคลากร โดยเน้นกลุ่ม middle management ให้พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ AI แก่พนักงาน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ

“ยอมรับว่านักลงทุนในประเทศช่วงหลังเอาเงินไปลงทุนเมืองนอกมากขึ้น เพราะผลตอบแทนสูงกว่า ดังนั้น ต้องทำให้ผลตอบแทนบ้านเราให้ดีขึ้น รวมทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่าง DR เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้กับนักลงทุนในประเทศ ที่ผ่านมาเราสร้าง Next Gen เป็นนักลงทุน ตอนนี้จบมาแล้ว 30 คน จากผู้เข้าร่วมโครงการ 3,000 คน เราคัดกรองเข้มข้น ปัญหาตอนนี้ที่เป็นคอขวด คือคนสอนต้องเพิ่มในส่วนนี้เข้ามาด้วยจะช่วยสร้างดีมานด์ ช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดได้ต่อเนื่อง”

และในขณะที่เราพัฒนาในด้านการลงทุน ภารกิจหลักที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ low carbon economy ร่วมกับพันธมิตร ด้วยการสร้าง Carbon Ecosystem ของประเทศ โดยออกแบบรูปแบบ Carbon Market Platform ตลาดหรือศูนย์ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เหมาะสม เพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในตลาดภาคบังคับและภาคสมัครใจ

รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon) พร้อมสนับสนุนการสร้างหลักสูตรพัฒนา “Carbon Professional” และจัดสอบผู้ทวนสอบ (Verifier) เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ Low Carbon Economy และ Net Zero ในปี 93.

"ทีมเศรษฐกิจ"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ