"คุณสู้ เราช่วย" แก้หนี้ 8.9 แสนล้าน วิเคราะห์หุ้น “แบงก์-ไฟแนนซ์” ไหน ได้ประโยชน์มากสุด ?

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

"คุณสู้ เราช่วย" แก้หนี้ 8.9 แสนล้าน วิเคราะห์หุ้น “แบงก์-ไฟแนนซ์” ไหน ได้ประโยชน์มากสุด ?

Date Time: 12 ธ.ค. 2567 11:03 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • โบรกฯ มองบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มการเงิน พร้อมเปิดรายชื่อหุ้นได้ประโยชน์สูงสุด รับโครงการแก้หนี้ "คุณสู้ เราช่วย" แก้หนี้ 8.9 แสนล้านบาท

Latest


ส่องโครงการแก้หนี้ "คุณสู้ เราช่วย" หลัง “แบงก์ชาติ-คลัง” ออก 2 มาตรการ ช่วยเหลือลูกหนี้กว่า 1.9 ล้านราย รวมมูลหนี้คงค้างกว่า 8.9 แสนล้านบาท ซึ่งครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายที่เริ่มมีความเสี่ยงและรายที่มีหนี้เสีย ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มการเงิน พร้อมเปิดรายชื่อหุ้นได้ประโยชน์สูงสุด

วานนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดตัวโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมลูกหนี้ถึง 1.9 ล้านราย จำนวน 2.1 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้างรวม 8.9 แสนล้านบาท หรือ 5.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ แบ่งออกเป็น 2 มาตรการหลัก ได้แก่

  • มาตรการ "จ่ายตรง คงทรัพย์" มุ่งช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีความเสี่ยงจะเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ โดยให้สิทธิพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี และหากลูกหนี้สามารถชำระเงินได้ตามเงื่อนไข จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีทั้งหมด
  • มาตรการ "จ่าย ปิด จบ" ออกแบบสำหรับลูกหนี้หนี้เสีย (NPL) ที่มียอดค้างไม่เกิน 5,000 บาท โดยหากลูกหนี้ชำระหนี้บางส่วนของภาระหนี้คงค้าง จะถือเป็นการปิดชำระหนี้และปิดบัญชี

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สำหรับมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ประเมินเป็นกลางถึงบวกต่อกลุ่มธนาคาร โดยประเมินคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น จะช่วยลดผลกระทบการลดกองทุนฟื้นฟูฯ FIDF อาจจะไม่ครอบคลุมรายได้ดอกเบี้ยทั้งหมด ขณะที่เปิดโอกาสให้ธนาคารยังน่าจะขยายสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้ต่อ

อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงของธนาคารจากการช่วยลูกหนี้ จะชดเชยบางส่วนจากการลดเงินนำส่ง FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% ของเงินฝาก ขณะที่กลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อดังกล่าวสูง ได้แก่ หุ้น SCB (56% ของสินเชื่อ) และหุ้น KBANK (50% ของสินเชื่อ)

ส่วนมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” ประเมินว่าหนี้ดังกล่าวส่วนใหญ่น่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล เป็นบวกต่อกลุ่มเช่าซื้อ ผู้ให้บริการบัตรเครดิต โดยหนี้ที่มีการ Haircut ของธนาคารจากการช่วยลูกหนี้จะชดเชยบางส่วนจากการลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% ของเงินฝาก ขณะที่กลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อดังกล่าวสูง KTC (98% ของสินเชื่อ) AEONTS (92%)

ด้านฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ให้ความเห็นว่า มีมุมมองกลาง จากสัดส่วนมูลหนี้ข้างต้นคิดเป็นสัดส่วนราว 5.9% ของสินเชื่อทั้งระบบสถาบันการเงิน ประกอบกับเป็นมาตรการตามความสมัครใจของลูกหนี้และมีเงื่อนไขห้ามก่อหนี้ใหม่ภายใน 12 เดือน จึงมองผลต่อกลุ่มธนาคารไม่สูง โดยมาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ

มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” คงมุมมองเดิมต่อมาตรการนี้ว่า แม้การปรับโครงสร้างหนี้ย่อมมีผลต่อรายได้ดอกเบี้ย แต่คาดถูกชดเชยได้กับระดับการตั้งสำรอง (ECL) ที่สามารถบริหารจัดการได้คล่องตัวขึ้น จากคุณภาพสินทรัพย์ที่มีโอกาสดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี 2568

โดยผลบวกต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่แท้จริง จะอยู่ที่ช่วงหมดมาตรการแล้วลูกหนี้ยังจ่ายได้ตามปกติ จึงมองว่าการปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อรถยนต์มีโอกาสสำเร็จมากกว่าสินเชื่อบ้านช่วงหลังหมดมาตรการตามความเห็นฝ่ายวิจัย อีกทั้งการกลับมาจ่ายหนี้ของสินเชื่อรถยนต์ น่าจะช่วยลดแรงกดดันผลขาดทุนรถยึดในทางอ้อม ซึ่งธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 3 อันดับแรก ได้แก่ KKP, TISCO และ TTB

ขณะเดียวกัน มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” จะหนุนต่อรายได้หนี้สูญรับคืน (บันทึกในรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย : Non - NII) โดยฝ่ายวิจัยมองมาตรการนี้เน้นไปที่กลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกันอย่างบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อกลุ่มนี้ราว 4-5% ของพอร์ตสินเชื่อ ได้แก่ BAY, KBANK, KTB (ผ่าน KTC), SCB (ผ่านกลุ่ม Gen 2) และ TTB

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 5% - 8% เทียบกับค่าเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยราว 3% ถือว่าน่าสนใจสำหรับหุ้นใหญ่ โดยภายใต้ภาพรวมตลาดยังขาดแรงขับจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ จึงมองว่ากลุ่มธนาคารที่ให้ปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ยังคงทนทานต่อความผันผวนของราคาหุ้นมากกว่ากลุ่มฯ โดยแนะนำ TISCO และ SCB ที่คาดหมายปันผลราว 8%

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ