ก.ล.ต. ล้อมคอกผู้บริหาร บจ. “จำนำหุ้นนอกระบบ” เล็งเปิดเผยข้อมูลคาดได้ข้อสรุปปีนี้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ก.ล.ต. ล้อมคอกผู้บริหาร บจ. “จำนำหุ้นนอกระบบ” เล็งเปิดเผยข้อมูลคาดได้ข้อสรุปปีนี้

Date Time: 24 ก.ย. 2567 19:14 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • ก.ล.ต. เร่งศึกษาเกณฑ์เปิดเผยข้อมูลจำนำหุ้นนอกระบบ (ไม่ผ่าน TSD) คาดเกณฑ์ใหม่ชัดภายในปีนี้ ด้าน ตลท. เตือน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ควรระวังก่อนนำหุ้นไปจำนำนอกระบบ

Latest


สำนักงาน ก.ล.ต. เผยกำลังเร่งศึกษากฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการจำนำหุ้นนอกระบบที่ไม่ได้ผ่านระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับนักลงทุนรายย่อยจากการขาดข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจลงทุน โดยคาดว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในปี 2567 นี้

ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ออกมาเตือนผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารให้ศึกษาข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนนำหลักทรัพย์ไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ เพราะอาจส่งผลให้ราคาหุ้นผันผวนอย่างมากเมื่อมีการบังคับขายหุ้นตามข้อกำหนดในสัญญาที่อาจไม่ได้เข้าใจอย่างดีพอ

เร่งศึกษาเกณฑ์เปิดเผยข้อมูล “จำนำหุ้นนอกระบบ” คาดชัดเจนปีนี้

เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันการชำระหนี้กู้ยืมนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ได้ผ่านระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนอาจไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจลงทุน

ทั้งนี้ การนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันอาจมีความเสี่ยงในการถูกบังคับขายจนราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรง และกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนรายย่อย ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างการศึกษากลไกในการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันนอกระบบ เพื่อให้นักลงทุนได้มีข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

โดยกระบวนการดังกล่าวคาดว่าหลักการจะมีความชัดเจนได้ภายในปี 2567 นี้ และสามารถบังคับใช้ได้ต่อไป โดยฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการให้สามารถเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ได้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการออกเกณฑ์ใหม่นั้นจะต้องใช้เวลาในการเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะอาจมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม การนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันเป็นสิทธิ์ที่ผู้ถือหุ้นพึงกระทำได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของเจ้าของหุ้นนั้น แต่ในมุมของสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ต้องการให้ผู้ที่ไปทำธุรกรรมมีความรู้ความเข้าใจ และประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

เตือนข้อควรระวัง ผู้ถือหุ้นใหญ่-ผู้บริหาร ก่อน “จำนำหุ้น” นอกระบบ

ด้านรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้หุ้นเป็นหลักประกันการชำระหนี้กู้ยืมนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบที่หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลได้แก่ การกู้ยืมกับ บล. เพื่อซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Margin Loan) ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุน และการกู้ยืมหรือขอวงเงินกับผู้ให้กู้ หรือ “การจำนำหุ้น” ที่ทำผ่านระบบ TSD ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีข้อมูลอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน มีธุรกรรมบางประเภทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาวิธีการเปิดเผยข้อมูล หรือกำหนดเกณฑ์การรายงานข้อมูลเพิ่มเติม คือ การจำนำหุ้นผ่านคัสโตเดียนต่างประเทศ ซึ่งไม่มีการบันทึกข้อมูลผ่านระบบ TSD ว่ามีการนำหลักทรัพย์ใดไปวางเป็นหลักประกัน ทำให้เมื่อผู้ให้กู้มีการสั่งขายหุ้นตามข้อกำหนดที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา อาจนำไปสู่การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุหรือข้อมูลที่เพียงพอ ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวตามสื่อก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นควรใช้ความระมัดระวัง และศึกษาข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนนำหลักทรัพย์ไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยอย่างน้อยควรพิจารณาในประเด็นดังนี้

  • ทำความเข้าใจข้อตกลงให้ครบถ้วน เช่น เงื่อนไขการกู้ยืม การให้วงเงิน การใช้วงเงิน และการชำระคืนเงินต้น
  • ผู้ให้กู้เป็นใคร มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ดำเนินธุรกิจมานานเพียงใด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด หรือต้องปฏิบัติตามกฎหมายใดหรือไม่
  • ควรใช้เงินลงทุนเป็นหลักประกันหรือไม่ เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ใช้เป็นหลักประกันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
  • หุ้นที่เป็นหลักประกันมีโอกาสที่มูลค่าจะลดลง อาจส่งผลให้เกิดการเรียกหลักประกันเพิ่มเติม การลดวงเงิน หรือการบังคับขายหุ้น
  • ผู้ให้กู้อาจใช้สิทธิตามสัญญา เช่น บังคับขายหุ้นโดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้หรือผู้ขอวงเงินทราบล่วงหน้า
  • ในกรณีที่มีการจ่ายสิทธิประโยชน์จากหุ้นที่เป็นหลักประกัน ทางผู้ให้กู้จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร เช่น สามารถนำไปหักลดยอดหนี้ได้หรือไม่
  • ข้อกำหนดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเป็นอย่างไร เช่น กำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว
  • อัตราค่าธรรมเนียมการกู้ รวมถึงค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร
  • ศึกษาข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการย้ายพอร์ตโฟลิโอ ไปยังคัสโตเดียนหรือโบรกเกอร์รายอื่น

เปิดทาง “โบรกฯ นอก” ขยายบริการในไทย หนุน "Financial Hub"

เอนก อยู่ยืน กล่าวอีกว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกมาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub ตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศที่สนใจเข้ามาให้บริการผู้ลงทุนไทย ก.ล.ต. จึงได้สรุปแนวทางการให้บริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ รวมถึงกำหนดแนวทางการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจ โดยมีสาระสำคัญ 4 หัวข้อหลัก ดังนี้

1. การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง ก.ล.ต. มีแนวทางในการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย โดยลดระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาให้ใบอนุญาต (fast track) หากผู้ขอรับใบอนุญาตมีคุณสมบัติและความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ยกเว้นการให้บริการธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องออกจากบัญชีสามท้าย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศสามารถขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพียงแห่งเดียว (one stop service) เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจไทย

2. การให้บริการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศที่ประสงค์จะให้บริการลูกค้าเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบันเท่านั้น สามารถขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ประเภทผู้ค้าสัญญาฯ กับ ก.ล.ต. (light touch) ซึ่งกำหนดคุณสมบัติและมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่าการขอรับใบอนุญาต

และการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรึกษาการลงทุนที่ให้คำแนะนำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ให้คำแนะนำเฉพาะแก่กลุ่มบริษัทในเครือ หรือผู้ลงทุนสถาบัน ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาต รวมถึงการให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจไทยที่พาลูกค้าไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยผู้ประกอบธุรกิจไทยจะต้องเป็นผู้ให้บริการลูกค้าตามขอบเขตของใบอนุญาตที่ได้รับ เช่น การทำความรู้จักลูกค้า การให้คำแนะนำการลงทุน

3. การดำเนินการที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต/จดทะเบียนประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ โดยการตั้งสำนักงานผู้แทนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือการเสนอขายหลักทรัพย์หรือบริการแก่ผู้ลงทุนไทย และการจ้างบริษัท/บุคลากรในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติงานบางส่วนเพื่อการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในต่างประเทศ (outsource) โดยผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดต่อและให้บริการลูกค้าในต่างประเทศเอง

4. การให้บริการแก่ผู้ลงทุนไทยกรณีไม่ได้รับการอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องระมัดระวังการกระทำและไม่ดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย เช่น แสดงตนหรือมีการกระทำเป็นทางค้าปกติว่าพร้อมให้บริการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ชักชวนผู้ลงทุนไทยให้ใช้บริการเกี่ยวกับการลงทุน จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในประเทศไทย สัมมนา โดยมีเจตนาชักชวนผู้ลงทุนไทยไปใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศได้โดยตรง หรือการกระทำอื่นใดที่เป็นการชักชวนให้มาใช้บริการโดยตรง

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ