TIDLOR หวังรัฐบาลใหม่ เปิดเพดานดอกเบี้ย คิดตามความเสี่ยงผู้กู้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

TIDLOR หวังรัฐบาลใหม่ เปิดเพดานดอกเบี้ย คิดตามความเสี่ยงผู้กู้

Date Time: 7 ก.ย. 2567 10:15 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • TIDLOR ลุยปรับโครงสร้างองค์กรเป็น “Holding Company” คาดแล้วเสร็จไตรมาส 4/67 เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านสินเชื่อและนายหน้าประกัน หวังรัฐบาลชุดใหม่เดินหน้า 3 นโยบาย พร้อมเสนอให้พิจารณาปรับให้ไม่มีเพดานดอกเบี้ย โดยเปลี่ยนเป็นการคำนวณดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงของผู้กู้แทน

Latest


บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TIDLOR ลุยปรับโครงสร้างองค์กรเป็น “Holding Company” คาดแล้วเสร็จไตรมาส 4/67 เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านสินเชื่อและนายหน้าประกัน พร้อมหวังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านภาษี และเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุน จากจะสามารถลดผลกระทบการจ่ายปันผลเป็นหุ้นได้

ทั้งนี้ หวังรัฐบาลชุดใหม่เดินหน้า 3 นโยบาย เพื่อสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อในประเทศไทย ทั้งมาตรการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาหนี้เสีย รวมถึงการใช้เครดิตบูโรเป็นภาคบังคับ

นอกจากนี้ เสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับให้ไม่มีเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน จากปัจจุบันไม่เกิน 24% ต่อปี โดยเปลี่ยนเป็นการคำนวณดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงของผู้กู้แทน

แนะ 3 มาตรการ รัฐบาลใหม่ พร้อมเสนอเปิดเพดานดอกเบี้ย

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TIDLOR เปิดเผยว่า บริษัทมีความคาดหวังให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินนโยบายต่าง ๆ ทั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจประกัน และสถาบันการเงินในประเทศไทย ประกอบด้วย

  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ - โดยมองว่าหากเศรษฐกิจมีการเติบโต จะทำให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อ กล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
  2. มาตรการการแก้หนี้เสีย - จากปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับภาวะหนี้เสียรุนแรง ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีเพดานดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ความคุ้มทุนในการปล่อยสินเชื่อลดลง จากต้นทุนที่สูง
  3. มาตรการใช้เครดิตบูโรเป็นภาคบังคับ - จะทำให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนเบี้ยประกันลดลง จากปัจจุบันเบี้ยประกันที่ค่อนข้างอยู่ในระดับสูงนั้น สะท้อนให้เห็นว่า เป็นต้นทุนที่มาจากความเสี่ยงของการไม่มีข้อมูล

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาในการปรับให้การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ไม่มีเพดานดอกเบี้ย จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 24% ต่อปี

โดยเปลี่ยนเป็นการคำนวณดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงของผู้กู้แทน (Risk Based Pricing) โดยจะทำให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ มีการคำนวณดอกเบี้ยให้ลูกค้า เหมาะสมกับความเสี่ยงในการชำระหนี้มากขึ้น

ลุยปรับโครงสร้างองค์กรสู่ "ติดล้อ โฮลดิ้งส์" คาดเสร็จไตรมาส 4/67

ปิยะศักดิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์ ภายใต้ชื่อ บริษัท ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านสินเชื่อและนายหน้าประกัน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech Platform ในอนาคต

โดยบริษัทฯ จะทำการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech Platform ได้แก่ แบรนด์ "อารีเกเตอร์" (Areegator) และ แบรนด์ "เฮ้กู๊ดดี้" (heygoody) รวมทั้ง ทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่บริษัทใหม่ ภายหลังจากที่หุ้นสามัญของ “ติดล้อ โฮลดิ้งส์” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ซึ่งหลังจากการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้วเสร็จ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ ในสัดส่วน 99.99% โดยการจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทฯ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการองค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจของแต่ละธุรกิจ และเพื่อให้มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลและการบริหารและจำกัดความเสี่ยงของแต่ละธุรกิจที่มีลักษณะต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ซึ่งสถานะของการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทเป็น Holding Company ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ โดยคาดว่า ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ (Tender Offer) จากผู้ถือหุ้นเดิมโดยวิธีการแลกหุ้นที่อัตรา 1:1 ในช่วงไตรมาส 4/67

ปิยะศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า หลังจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้วเสร็จ จะทำให้บริษัทและผู้ถือหุ้นได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนด้านภาระภาษี และผลกระทบจากการจ่ายปันผลเป็นหุ้น เช่น ราคาหุ้นลดลง หรือกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ลดลง

จากที่ผ่านมาบริษัทฯ ต้องเลือกวิธีการจ่ายปันผลเป็นหุ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ และรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้ไม่เกิน 7 เท่า ตามกฎหมาย เพราะ บมจ.เงินติดล้อ ถือเป็น “นิติบุคคลต่างด้าว” จาก 61% เป็นผู้ถือหุ้นต่างชาติ

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์