มาตรการ Uptick Rule หนึ่งในสิ่งที่นักลงทุนเรียกร้องให้นำใช้เพื่อหยุดสถานการณ์ปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นที่รุนแรง โดย Uptick Rule ถูกเริ่มใช้ในวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยความคาดหวัง คือ การให้การทำ Short Sell จากเดิมที่สามารถทิ้งออเดอร์ฝั่งซ้ายนั้นทำได้ยากขึ้น โดยผลของการใช้ 1 เดือนที่ผ่านมานั้น หลายฝ่ายต่างประเมินว่าได้ผล คือ การหยุดไม่ให้เลือดไหลเพิ่ม แต่ในฝั่งของการให้หุ้นขึ้น อาจต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมนั้นเข้ามาช่วย
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ Thairath Money ว่า มารตรการ Uptick ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานั้น ต้องบอกว่าได้ผลในระดับหนึ่ง คือ ทำให้การ Short Sell หุ้นทำได้ยากมากขึ้น แต่การจะพลิกให้ตลาดหุ้นกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นประกอบด้วย
“มาตรการ Uptick Rule ได้ผลในแง่ของการหยุดการลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย ช่วยหยุดการ Short Sell ช่วยให้การปรับตัวลดลงของหุ้นไทยนั้นไม่มากเหมือนกับก่อนหน้านี้”
ทั้งนี้ มาตรการ Uptick Rule เป็นเพียงแค่สิ่งที่หยุดอาการเลือดไหลให้กับตลาด แต่หากคาดหวังให้ตลาดหุ้นพลิกฟื้น สิ่งที่ต้องมี คือ กำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสิ่งที่เราเห็นก็คือว่า ผลประกอบการในกลุ่มธนาคารที่รายงานออกมาไม่ดีนัก
กำไรของกลุ่มธนาคารเป็นสิ่งที่สะท้อนกับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย แม้จะมีกำไรที่เติบโตได้ดีมาก แต่สิ่งที่เติบโตควบคู่มาด้วย คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนความอ่อนแอของธุรกิจไทยในเวลานี้ ซึ่งกลุ่มที่ต้องจับตา คือ กลุ่มลิสซิ่ง หรือกลุ่มนอนแบงก์ ที่จะรายงานกำไรหลังจากนี้ จะมีหนี้เสียมากแค่ไหน
นอกจากธุรกิจไทยที่ดูอ่อนแอแล้ว ธุรกิจที่อิงรายได้จากต่างประเทศก็เผชิญกับความท้าทายเช่นกัน ด้วยภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ชะลอตัว เฟดยังคงดอกเบี้ยในระดับสูง ทำให้ยอดขายอาจไม่เติบโตอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ เปิดเผยกับ Thairath Money ว่า มาตรการ Uptick Rule นั้นได้ผลดีมาก โดยในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าการทำรายการ Short Sell ลดลงจาก 4-5 พันล้านบาทต่อวัน ลดลงเหลือระดับ 1.5 พันล้านบาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งถือว่าปรับตัวลดลงเทียบเท่ากับช่วงปี 2563 ที่เคยใช้มาตรการนี้มาก่อน ซึ่งผลสำคัญทำให้การปรับตัวลดลงของดัชนีไม่รุนแรงเหมือนกับก่อนหน้านี้
“มาตรการ Uptick นั้นถือว่าได้ผล อย่างในช่วงที่ดัชนีจะหลุด 1,300 จุด ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญ ถ้าไม่มีมาตรการช่วงดังกล่าว ดัชนีจะร่วงรุนแรงมากจากการที่ Short Sell เข้ามาเสริม แต่ในรอบนี้จะเห็นว่าดัชนีค่อยๆ ปรับตัวลดลง”
ทั้งนี้ มูลค่าการทำรายการ Short Sell ต่อมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลงจาก 15% มาอยู่ที่ 5% สะท้อนเสถียรภาพของตลาดที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง Uptick Rule จะเป็นเพียงมาตรการที่หยุดการปรับตัวลดลงของหุ้นเท่านั้น แต่หากจะให้หุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น สิ่งที่ต้องทำ คือ ปัจจัยด้านพื้นฐานต้องสนับสนุนด้วย โดย บล.ทรีนีตี้ มองว่า ไตรมาสที่ 3 อาจเป็นจุดที่ต่ำที่สุด ก่อนที่ไตรมาสที่ 4 จะฟื้นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าเก็บหุ้น
ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับ Thairath money ว่า Uptick Rule ได้ผลดีมาก แม้ว่าในช่วงแรกมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวลดลงจากระดับ 4 หมื่นล้านบาท ลงมาที่ 3 หมื่นล้านบาท จากวอลุ่มของ Short sell ที่หายไป แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายกลับมาที่ระดับ 4 หมื่นล้านบาทอีกครั้ง ซึ่งมูลค่าการซื้อขายที่กลับขึ้นมาครั้งนี้ ถือว่าเฮลท์ตี้ต่อตลาดหุ้น เพราะสัดส่วนการ Short Sell นั้นมีสัดส่วนน้อย
อย่างไรก็ตาม การพลิกฟื้นของตลาดหุ้นในอนาคต ส่วนตัวมองว่า สิ่งที่ต้องคาดหวังหลังจากนี้ คือ มาตรการช่วยกระตุ้นตลาดหุ้น ทั้งการหวังถึงกองทุน TESG ที่จะถูกออกมาช่วยประคองตลาดหุ้น รวมถึงการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ เพื่อช่วยผลักดันตลาด ต้องรอความชัดเจนตรงนี้อีกครั้ง
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่