แม้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจะมีความท้าทายอย่างมาก จากปัจจัยการเติบโตต่ำ ดอกเบี้ยสูงสภาพคล่องหดตัว กระทบในหลายอุตสาหกรรม แต่หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตได้ คือ อุตสาหกรรมอาหาร ด้วยเหตุสำคัญที่ทุกคน ต้องบริโภค ทำให้ตลาดนี้ยังเติบโตได้ดี โดยในปีนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี จะมีมูลค่าสูงถึง 6.69 แสนล้านบาท ทำให้ผู้เล่นหลายรายเริ่มกระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้
ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้การรวมกลุ่มกันทำธุรกิจอาจเป็นทางเลือก และ ทางรอดสำคัญ โดยในช่วงวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศดีลใหม่ ด้วยการรวมตัวกันของ 3 กลุ่มธุรกิจ คือ อควา คอร์เปอเรชั่น, สิงห์ คอร์เปอเรชั่น และกลุ่มใบหยก รวมตัวกัน ตั้งกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ร่วมกับ บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด หรือ FAB ที่คาดว่าจะมีทุนจดทะเบียนถึง 2.5 พันล้านบาท โดยมีแบรนด์ดังรวมกันอย่างคับคั่ง ทั้ง Santa Fé, Sekai no, Yamachan, ส้มตำ เจ๊แดง สามย่าน, อุชิดายะ ราเมน และมีรายได้ ถึง 1.7 พันล้านบาทเลยทีเดียว
เป็นดีลที่ถูกจับตาอย่างมาก หลัง บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัท เรื่อง การปรับโครงสร้างและการเข้าลงทุนในธุรกิจอาหารในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญคือ จัดตั้งทำธุรกิจร้านอาหาร ร่วมกับ บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด หรือ FAB
ซึ่งความน่าสนใจของการเข้าลงทุนในครั้งนี้ เป็นการจับมือกันระหว่าง 3 กลุ่มยักษ์ใหญ่ คือ กลุ่ม อควา คอร์เปอเรชั่น, สิงห์ คอร์เปอเรชั่น และ เบียร์ ใบหยก หรือ ปิยะเลิศ ใบหยก ผู้บริหารทายาทรุ่นที่ 3 แห่งตึกใบหยก โดยจะมีการเข้าไปถือหุ้นใน FAB ร่วมกัน โดยแบ่งเป็น
อย่างไรก็ตาม FAB จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในกลุ่มอาหารรายใหม่ โดยจะมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 2,500 ล้านบาท และมีแบรนด์อาหารที่ตอบโจทย์ในทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งอาหารฝรั่ง อาหารไทย และ อาหารญี่ปุ่น
ได้แก่
มีสาขารวมกัน 204 สาขา โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้รวมกันประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท โดยโดยกระบวนการในการจัดโครงสร้างของบริษัท น่าจะแล้วเสร็จในเดือนต.ค.นี้
ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารมีความท้าทายมาก จากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน แต่ในมุมของ AQUA มองว่า จะเป็นโอกาสของการเติบโต เพราะเป็นสิ่งหนึ่งสำคัญในการดำรงชีวิต และในขณะเดียวกันแบรนด์ที่มีอยู่ในมือ ยังถือว่าเป็นแบรนด์ยอดนิยม
ฉาย บุนนาค กล่าวว่า “บริษัทมั่นใจว่าการลงทุนธุรกิจอาหารในครั้งนี้ จะสร้างแกนรายได้อีกขาหนึ่งให้กับกลุ่ม AQUA ด้วยธุรกิจอาหารในปัจจุบัน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเรามั่นใจว่าการลงทุนนี้จะเพิ่ม EBITDA ให้กับบริษัทฯ ในระยะยาว และสร้างความมั่นคง เติบโตตามการบริโภคอย่างต่อเนื่อง”
“แม้ธุรกิจอาหารปัจจุบัน จะเป็นไปตามกระแสนิยม แต่ Brand ต่างๆ ที่เราร่วมลงทุน ต่างก็เป็น Brand ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับมานาน อีกทั้งธุรกิจอาหารก็ถือเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจต่ำกว่า เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ”
ฉาย กล่าวเพิ่มเติมถึงพันธมิตรในการร่วมลงทุนว่า “การลงทุนร่วมกันในแบรนด์ร้านอาหารครั้งนี้ เราได้ศึกษามาเป็นอย่างดีร่วมกับพันธมิตรที่มี Synergy กันชัดเจน ทั้งด้านการตลาดและด้านเครือข่ายการจัดการที่มีประสิทธิภาพ”
โดย FAB จะมีการแถลงข่าวถึงกลยุทธ์และแผนการสร้างการเติบโตในสัปดาห์หน้า
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจอาหารในปีนี้จะเติบโตได้ คาดธุรกิจร้านอาหารในปี 67 จะมีมูลค่าราว 6.69 แสนล้านบาท บนสถานการณ์ของภาคธุรกิจ ซึ่งมีทั้งปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจให้ได้พื้นที่ตลาดเร็วขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ตัดสินใจตามอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงสัดส่วนกำไรที่คาดเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังต้องเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่มีพื้นที่บริการทับซ้อนกันมากขึ้น
ธุรกิจร้านอาหารในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นับเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูง เริ่มจากมาตรการล็อกดาวน์ การปิดห้างร้านชั่วคราว และการไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารในร้าน เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 63 และถึงแม้ในปี 64 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเริ่มมีการผ่อนคลายลง แต่ด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่กลับมา และความกังวลจากภาคประชาชนในการรับประทานอาหารในพื้นที่สาธารณะ ส่งผลให้รายได้ธุรกิจร้านอาหารหดตัว 5.6% ต่อจากปี 63 ที่ลดลงไปถึง 15.0%
อย่างไรก็ตาม ในระหว่าง 2 ปีแห่งความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางมาตรการควบคุมโรคระบาดในแต่ละช่วงเวลา “แพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเป็นข้อต่อสำคัญที่ช่วยให้กิจกรรมร้านอาหาร ยังสามารถไปต่อได้ท่ามกลางวิกฤติ ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนให้ต่างไปจากเดิม ทำให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถขยายพื้นที่บริการได้โดยอาศัยแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร
โดยปัจจัยบวกในการประกอบธุรกิจร้านอาหารปี 67
1. พื้นที่ในการทำการตลาดที่ขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม ผ่านแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถขยายพื้นที่บริการโดยไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ (Physical Asset) และช่วยลดความจำเป็นในการเลือกทำเลที่ตั้งที่มีค่าเช่าพื้นที่สูง
2. กระแสพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารตามการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่ส่งผลให้ร้านอาหารสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้ในเวลาอันสั้น รวมถึงลดความสำคัญของการพึ่งพิงทำเลที่ตั้ง ที่ส่งผลต่อต้นทุนค่าเช่าที่สูง
3. แนวโน้มพื้นที่กำไรที่เพิ่มสูงขึ้น จากทางอ้อมของแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร ที่ส่งผลให้ราคาสุทธิที่มีผู้ซื้อเพิ่มสูงขึ้นราว 30-35% เมื่อมีส่วนของค่าบริการที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม (GP) รวมเข้าไปด้วย
ทั้งนี้ ทำให้ในมุมของผู้บริโภครู้สึกว่า ราคาอาหารที่รวมค่าบริการผ่านแพลตฟอร์ม กลายเป็นราคาจ่ายปกติต่อมื้อมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันหลายร้านเริ่มตั้งราคาเดียว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของราคาหน้าร้าน และผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อให้ได้รับพื้นที่กำไรส่วนเพิ่มจากลูกค้าหน้าร้าน รวมถึงในปี 67 ราคาต้นทุนอาหารหลายรายการเริ่มปรับลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์ แต่ราคาอาหารที่เป็นสินค้าขั้นสุดท้าย มักไม่ได้ปรับตามต้นทุนในช่วงขาลง ส่งผลให้ปี 67 สัดส่วนกำไรของผู้ประกอบการคาดว่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่