2 ธนาคารใหญ่กำไรวูบ SCB รับผลปิด Robinhood ตั้งสำรองฯ ลูกค้ารายใหญ่ KKP ชี้ต้นทุนการเงินพุ่ง

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

2 ธนาคารใหญ่กำไรวูบ SCB รับผลปิด Robinhood ตั้งสำรองฯ ลูกค้ารายใหญ่ KKP ชี้ต้นทุนการเงินพุ่ง

Date Time: 19 ก.ค. 2567 14:24 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • SCB รายงานกำไรไตรมาส 2/67 ลดลง 15% เหลือ 1 หมื่นล้าน รับผลปิด Robinhood ตั้งสำรองฯ 1.1 หมื่นล้าน รับความเสี่ยงลูกค้ารายใหญ่ ด้าน KKP ชี้ต้นทุนการเงินพุ่ง-ตลาดทุนไม่เอื้อ กดกำไรวูบ 45% เหลือ 769 ล้านบาท

Latest


เกาะติดการรายงานผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ประจำไตรมาส 2/67 โดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) หรือหุ้น SCB ประกาศกำไรไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1 หมื่นล้าน ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับผลปิด Robinhood พร้อมตั้งสำรองฯ 1.1 หมื่นล้าน รับความเสี่ยงลูกค้ารายใหญ่


ด้าน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KKP เผยต้นทุนการเงินพุ่ง ทำรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง เหตุตลาดทุนไม่เอื้อ กดกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 วูบ 45% เหลือ 769 ล้านบาท


SCB รับผลปิด Robinhood กำไรหด 15% เหลือ 1 หมื่นล้าน


บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) หรือหุ้น SCB รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกําไรสุทธิในไตรมาส 2/67 จํานวน 10,014 ล้านบาท ลดลง 15.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สําหรับครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีกําไรสุทธิจํานวน 21,295 ล้านบาท ลดลง 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


โดยบริษัทมีกําไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ลดลง 15.6% จากปีก่อนหน้า โดยที่กําไรสุทธิไม่รวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจากการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood อยู่ที่ 1.08 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.9% จากปีก่อนหน้า


การลดลงของกําไรสุทธิส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียว จากการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood การตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมสําหรับ ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ การลดลงของรายได้จากการลงทุนและการค้าในพอร์ตการลงทุน รวมทั้งความอ่อนแอของ รายได้ค่าธรรมเนียม ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ


สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจํานวน 32,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตรา 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อและมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายรอบด้าน รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ มีจํานวน 10,328 ล้านบาท ลดลง 8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขาย ประกันภัย ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงิน และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ


ส่วนค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานจํานวน 18,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (ก่อนรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) อยู่ที่ 41.2%


บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสํารองจํานวน 11,626 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากปีก่อน โดยในไตรมาสนี้รวมการตั้งสํารองพิเศษเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 161.7%


คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 3.3% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.2% ในปีก่อน เงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทฯ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.8%


KKP ชี้ต้นทุนการเงินพุ่ง-ตลาดทุนไม่เอื้อ กดกำไรวูบ 45% เหลือ 769 ล้านบาท


ด้าน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KKP รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า สําหรับไตรมาส 2/2567 ธนาคารเกียรตินาคินภัทรและบริษัทย่อย มีกําไรสุทธิจํานวน 769 ล้านบาท ปรับลดลง 45.4% หากเทียบกับไตรมาส 2/66 โดยหลักจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับลดลง 9.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงตามต้นทุนทางการเงินที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น


ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 18.8% จากการลดลงของรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่ ประกอบกับภาวะทางด้านตลาดทุนที่ยังคงไม่เอื้ออํานวย


ทางด้านค่าใช้จ่ายธนาคารยังสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานต่อรายได้สุทธิ สําหรับไตรมาส 2/2567 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีที่ 42%


ในส่วนของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปรับตัวลดลง 5.8% หากเทียบกับไตรมาส 2/66 ตามมาตรการบริหารคุณภาพ สินทรัพย์ที่ธนาคารได้มุ่งเน้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารมีการสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งบางส่วนมีผลจากฤดูกาลและเพื่อเป็นการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงปัจจัยทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน


ทางด้านอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 4.0% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.8% ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 และอัตราส่วนสํารองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 136.5%

 

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ