ตลาดหุ้นไทยกำลังเจอวิกฤติศรัทธาอย่างหนัก จากนักลงทุน ทั้งจากกรณีการทุจริตในหุ้น MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน), หุ้น STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และล่าสุด การโกงในหุ้น EA หรือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่เหมือน ฟางเส้นสุดท้าย ที่ถูกวางกลางใจนักลงทุนให้แหลกสลาย พร้อมกับความเชื่อมั่นที่พังทลายไปด้วย
ทั้งที่ในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. พยายามหาจุดขายอย่างหนักหน่วงในเวลานี้ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนฯ (บจ.) ที่ต้องคำนึงทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งส่งผลให้บริษัทจดทะเบีบนจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับใน DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index มีสมาชิกอยู่ถึง 12 บริษัท สูงที่สุดในโลกในปี 2566 เหนือกว่า สหรัฐอเมริกา ที่มีอยู่ 11 บริษัท
แต่ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้กำลังไร้ความหมาย และถูกตั้งคำถามว่า ความยั่งยืนเหล่านี้ ของจริง หรือ แค่เช็กลิสต์ เมื่อการฉ้อโกง เรื่องฉาวของ บจ.ไทยเข้ากัดกิน
ความผิดปกติในหุ้น EA เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ราคาหุ้นที่เคยทำจุดสูงสุดที่ 105 บาท ในปี 2564 ซึ่งปัจจัยถาโถมเข้ามาจำนวนมาก ทั้งความกังวลในเรื่องงบการเงิน การถูกบังคับขายหุ้นในบริษัทลูก อย่าง บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX และการถูกบังคับขายหุ้น ของผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่าง สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กดราคาหุ้นลงมา จนล่าสุดเหลือเพียง 13.10 บาท
จนล่าสุด ปริศนาก็ถูกเฉลย กับการทุจริตในตลาดหุ้นไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ได้ประกาศ กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ผู้ถือหุ้น EA
ตามเอกสารจาก ก.ล.ต. ระบุว่า ปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556-2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท
การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้กรรมการหรือผู้บริหารผู้ใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
แต่ทั้งนี้ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่า หนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 กรรมการหรือผู้บริหารกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยทุจริต) มาตรา 313 บทเพิ่มโทษกรรมการหรือผู้บริหารนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
ประกอบมาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” และมาตรา 86 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิด จะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น” แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 รายต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อ ปปง. อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ซึ่งการประกาศข่าวดังกล่าว ถือว่าช็อกกับวงการตลาดหุ้น เพราะต้องยอมรับว่า EA เป็นบริษัทที่มีภาพลักษณ์ที่ดีมาโดยตลอดและ มีธุรกิจที่น่าสนใจโดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจแบตเตอรี่ และ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึง ผู้บริหารอย่าง สมโภชน์ อาหุนัย เป็นในผู้บริหารที่ถูกจับตามากที่สุด และ เป็นเศรษฐีเคยรวยหุ้นเบอร์ต้นในเมืองไทย
เมื่อเปิดโปรไฟล์ ของ EA ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา และได้รับการเชื่อถือในตลาดทุนอย่างมาก โดยบริษัท ได้รับการรับรองระบบต่อต้านคอร์รัปชันที่ผ่านการรับรอง (CAC) มีคะแนนการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ CG Report ในระดับ 5 ดาว ซึ่งสูงที่สุดในตลาดหุ้น
เคยได้รับการจัดอันดับหุ้นที่มี ความยั่งยืน หรือ SET ESG Ratings ในระดับ AA ซึ่งในหลายครั้ง EA เคยถูกเชิญเป็นวิทยากรและแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาถึงความสำเร็จให้กับบริษัทอื่นๆ
โดยรางวัลที่ EA เคยได้รับ ได้แก่
การกล่าวโทษครั้งนี้ สิ่งที่ถูกโฟกัสมากๆ อีกจุดหนึ่ง คือ ผู้ที่ถูกกล่าวโทษ โดยเฉพาะ สมโภชน์ อาหุนัย ที่หลายคนนำเขาไปเปรียบเทียบกับ โทนี สตาร์ค ในภาพยนตร์สุดฮิตอย่าง Iron Man เนื่องจากมีโปรไฟล์ที่ดีมาก เคยมีความมั่งคั่งจากหุ้น EA ในระดับ 1.37 แสนล้านบาทมาแล้ว และมีรางวัลส่วนตัวจำนวนมากในตลาดหุ้น เคยได้รับ CEO Awards ที่เป็นรางวัลสำหรับผู้บริหารสูงสุดในตลาดหุ้นไทย
โดยรางวัลของสมโภชน์เคยได้รับ ได้แก่
นอกจากนี้ สมโภชน์ ยังได้ลงสมัครคัดเลือกผู้ท้าชิงประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) คนที่ 17 แข่งกับเกรียงไกร เธียรนุกุล ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อเกรียงไกร แชมป์เก่า
อย่างไรก็ตาม มาถึงบรรทัดนี้ ต้องยอมรับว่า อนาคตของหุ้น EA ยังเป็นปริศนาที่ดำมืด เพราะ ในคำสั่งของ ก.ล.ต.ที่กล่าวโทษออกมา ทำให้สมโภชน์ อาหุนัย และอมร ทรัพย์ทวีกุล ต้องพ้นจากตำแหน่งใน EA ทันที
ขณะเดียวกัน EA อยู่ระหว่างการเสนอขายหุ้นกู้ 2 รุ่น ซึ่งมีแผนออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม (Roll Over) ที่จะครบกำหนดราว 5,500 ล้านบาท ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งแบ่งเป็นหุ้นกู้อายุ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.5-4.75% และหุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.5% สถานการณ์นี้ทำให้ถูกจับตามองอนาคตหุ้นกู้ EA จะเป็นเช่นไร และจะสามารถขายได้หมดท่ามกลางข้อสงสัยนานาหรือไม่
ไม่นับรวมถึงอนาคตของตลาดหุ้นไทยที่ถูกตอกย้ำจากความเชื่อมั่นจากหลายๆ กรณีหุ้นไทยที่พังทลายไป ใครจะเป็นผู้กอบกู้ และอนาคต การคอร์รัปชันจะถูกเปิดเผยมากขึ้น หรือไม่ ยังน่าติดตาม
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่