บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB สร้างความประหลาดใจเมื่อแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทจะหยุดการให้บริการแพลตฟอร์ม Robinhood ในช่วงสิ้นเดือนนี้ โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์พากันมองว่า การหยุดให้บริการ Robinhood ครั้งนี้จะเป็นผลบวกต่อ SCB เพราะไม่ต้องมาแบกรับความขาดทุนที่เกิดขึ้นอย่างมาก
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า SCB แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood (เป็นส่วนหนึ่ง ของบริษัทย่อย บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่ง SCBX ถือหุ้น 100% มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2567
หลังแอปพลิเคชัน Robinhood สำหรับการยุติกิจการครั้งนี้ ช่วยให้ SCBX หยุดรับรู้ผลขาดทุนจากหน่วยธุรกิจ แอปพลิเคชัน Robinhood โดยตามฐานข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด มีผลขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2565–66 มีผลขาดทุน 2 พันล้านบาท และ 2.1 พันล้านบาท (เฉลี่ยขาดทุน 180 ล้านบาทต่อเดือน) ตามลำดับ
โดยหากอิงผลขาดทุนปี 2566 ข้างต้น และอยู่บนสมมติฐานว่าผลขาดทุนหลักของ บริษัทย่อย ดังกล่าว มาจาก Robinhood เป็นหลัก จะส่งผลให้ SCBX ไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้หรือราว 900 ล้านบาท คิดเป็นอัปไซด์ต่อประมาณการกำไร SCBX ปี 2567 ราว 2% แต่การยุติกิจการมีโอกาสตามมาด้วยค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงาน และการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้แล้วบางส่วน
ซึ่งงบดุลของของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ณ สิ้นปี 2566 มีสินทรัพย์อยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท (สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนราว 1.9 พันล้านบาท หากมีการตั้งด้อยค่าฯ จะอยู่ในส่วนนี้เป็นหลัก) และหนี้สินรวม 797 ล้านบาท เหลือสินทรัพย์สุทธิ 2.7 พันล้านบาท ภาพรวมฝ่ายวิจัยมองกลางต่อประเด็นนี้ เพราะหากมีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ อาจไม่มีอัปไซด์ต่อประมาณการปีนี้ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน ส่วนปี 2568 จะมีอัปไซด์ไม่เกิน 5% ของประมาณการกำไรที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน ตามการหยุดรับรู้ผลขาดทุนข้างต้น
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี เปิดเผยว่า เรามีมุมมอง Neutral ต่อข่าว SCB จะหยุดให้บริการ Robinhood เพราะปีนี้คาดว่า SCB มีแรงกดดันจากการบันทึกค่าใช้จ่ายด้อยค่าสินทรัพย์
อย่างไรก็ตามปี 68 จะมีผลบวกจากการที่ไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจากผลการดําเนินงาน ทั้งคาดว่าการหยุดให้บริการ Robinhood จะไม่มีผลกระทบต่อการจ่ายปันผลของ SCB ดังนั้นเรายังคงคาด อัตราเงินปันผล ของ SCB อยู่ที่ประมาณ 8-10% ต่อปี ซึ่งสูงสุดในกลุ่มธนาคาร แนะนำ Trading Buy ราคาเป้าหมาย 115 บาท
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ทิศทางของผลการดำเนินงาน SCB ในไตรมาสที่ 2 กำไร คาดว่ามีกำไร 11.4 พันล้านบาท ลดลง 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงและค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าสินเชื่อที่เติบโตจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ยังคาดการณ์ กำไรปี 67 ของ SCB ไว้ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน และยังคงราคาพื้นฐานไว้ที่ 122 บาท ยังคงมีส่วนต่างเหลือพอสมควร นอกจากความน่าสนใจจากสินเชื่อเดือน พ.ค.ที่เติบโตที่สุดในกลุ่มแล้ว SCB ยังเป็นธนาคารที่มีปันผลน่าสนใจจากการปรับเพิ่ม pay out ratio ขึ้นมาโดยปี 67 คาดว่าจะมีการจ่าย 11.06 บาทต่อหุ้น คิดเป็น อัตราเงินปันผล สูงถึง 10.4% แนะนำ "ซื้อ"