สัตว์เลี้ยงกับมนุษย์ มีความผูกพันกันมายาวนาน ทั้งเพื่อแรงงาน และความสุข ทำให้ตลาดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงนั้นเติบโตอย่างมาก จนมีข้อมูลด้านสถิติเผยว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายใการดูแลสัตว์เลี้ยงกว่า 1.2 หมื่นบาทต่อปี และหนึ่งในตลาดที่เติบโตสูงในเวลานี้ คือ ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง
เทรนด์การดูแลอาหารการกินของสัตว์เลี้ยง ที่นับวันยิ่งก้าวหน้าและพัฒนามากยิ่งขึ้น ทั้งอาหารสัตว์เลี้ยงแบบแมวเลีย ที่ใครหลายคนเลือกพกติดกระเป๋าไว้เจอเจ้าเหมียวตามถนน หรือ การพัฒนาถึงโภชนาการ ใส่โอเมก้า 3 หรือ การใส่กิงโกะ เพื่อเสริมความจำ ซึ่งในด้านหนึ่งดูเหมือนสัตว์เลี้ยงจะได้รับประโยชน์ แต่ในทางกลับกัน เจ้าของ หรือ เจ้านายสัตว์เลี้ยง ได้รับความสุขจากการเป็นผู้ให้ ทำให้ตลาดนี้โตได้แบบไม่หยุด
เอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ผู้รับจ้างผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของไทยและของโลก เจ้าของแบรนด์ monchou เปิดเผยกับ Thairath Money ว่า การเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอีกมากใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอาหารสัตว์เปียก หรืออาหารแมวเลีย ที่ตอบโจทย์ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของสัตว์เลี้ยง กับ สัตว์เลี้ยง ช่วยเติมเต็มความสุขในการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น
“อาหารสัตว์เปียกตอบโจทย์คนซื้อ หรือ เจ้าของสัตว์เลี้ยง อาหารเปียกไม่ได้เติมโภชนาการมากกว่าอาหารเม็ด แต่เป็นการเติมความสุขให้เจ้าของด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นเทรนด์ของโลก” เอกราช กล่าว
ทั้งนี้ในด้านประโยชน์โภชนาการ ระหว่างอาหารสัตว์ชนิดเม็ด กับ อาหารสัตว์เปียกนั้น มีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเรานำอาหารเม็ด และใส่อาหารเปียกไปผสม ด้วยรูปรสกลิ่นสัมผัส สัตว์เลี้ยงจะอยากกินมากขึ้น
โดยตลาดที่มีการเติบโตได้ดี คือ อาหารสัตว์เปียกในกลุ่มอาหารแมว มีพัฒนาการที่ไปไกลมาก สมัยก่อนอาหารสัตว์เลี้ยงอาจจะเน้นเรื่องรสชาติ เช่นรสตับ หรือ รสเนื้อ แต่เวลานี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว มีทั้ง ไฮโดรไลซ์โปรตีน เม็ดกิงโกะ ช่วยพัฒนาด้านความจำ สารสกัดจากเคราติน หรือ โอเมก้า 3 ก็ใส่เข้าไป เพื่อให้ประโยชน์กับสัตว์เลี้ยงมากที่สุด
นอกจากยังต้องพัฒนาด้านรูปลักษณ์ เช่นการทำอาหารแมวให้คล้าย พานาคอตต้า แม้สุดท้ายแล้วเวลาจะสัตว์เลี้ยงเราจะกิน เราต้องขยี้ให้ทานได้ง่ายก็ตาม แต่สิ่งนี้จะช่วยเติมเต็มให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความสุขมากขึ้น
อย่างไรก็ตามด้วยเทรนด์ดังกล่าว ทำให้ AAI ต้องตอบสนองความต้องการตลาด เราจะต้องพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดย ทีมพัฒนาและวิจัยของ AAI มี KPI ที่ว่า จะต้องมีอย่างน้อยวันละ 1 สินค้าใหม่ออกมา เพราะตลาดมีความต้องการใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่ต้องปรับทั้ง รสชาติ รูปลักษณ์ ภาชนะที่ใส่ ซึ่งอาหารเปียกเป็นสินค้าที่พรีเมียม ต้องพัฒนาตลาด
สำหรับผลการดำเนินงานของ AAI ในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่ดีนัก โดย เอกราช มองว่า เราเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปี 2565 โดยภายหลังการเข้าตลาดหุ้นในช่วงปี 2566 ที่ 382 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่ 859 ล้านบาท ผลสำคัญมาจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง
เพราะในฝั่งของผู้ผลิต หรือ โรงงาน OEM เผชิญปัญหาสต๊อกล้นตลาด ผลกระทบจากช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ลูกค้ามีปัญหาสต๊อกเยอะมาก เพื่อกักตุน และการกังวลในเรื่อง Covid ทำให้กระทบสายเรือ ค่าขนส่งแพง ตู้ส่งออกไม่ได้ ซึ่งในเวลานี้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ลูกค้าเลยเลือกที่จะเคลียร์สต๊อกออก
โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับมาอีกครั้ง ทำให้เรามองว่า ในปี 2567 คำสั่งซื้อจะกลับมาเป็นปกติทั้งนี้ในการเติบโตของปี 2567 อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% ตลาดต่างประเทศเริ่มโตต่อเนื่องในทุกกลุ่ม ทั้งจีน ตะวันออกกลาง และยุโรป
"ตลาดในประเทศไทยก็เติบโตต่อเนื่อง คนไทยเริ่มปรับการเลี้ยงจากใช้อาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ให้โภชนาการถูกต้อง ซึ่งเทรนด์ของไทย เริ่มมี TikTok ที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ทำรายได้จากสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดในประเทศเติบโต โดยในปี 2567 เราวางเป้าหมายไว้ จะมียอดขายเติบโตจากปีก่อน 19%"
ในด้านกำลังการผลิตบริษัทปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5.6 หมื่นตันต่อปี และเริ่มกลับมาเรื่อยๆ โดยใช้อยู่ที่ 55-60% สัดส่วนอาหารเปียกปัจจุบันนั้นขยับมากขึ้น โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30% ทั้งนี้ ในอนาคตเรามีแผนที่ขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 1 เท่าตัว
ส่วนการบริหารต้นทุนเดิมทูน่าราคาผันผวนมากเราได้ขยับเพิ่มวัตถุดิบใหม่ทั้งเนื้อไก่และอื่นๆ เข้ามาซึ่งราคาทูน่าเคยขึ้นไป 2.1 พันดอลลาร์ต่อตัน ก่อนที่จะลงมาอยู่ในระดับ 1.5 พันดอลลาร์ต่อตัน
ส่วนแบรนด์มองชูยังไม่น่าพอใจยังต้องทำตลาดต่อเนื่องวางเป้าหมายมีสัดส่วน 10% ของยอดขาย หรือในระดับ 1 พันล้านบาทต่อปี ยังต้องพัฒนาให้เกิดการเติบโตไปอีก
โดยเอกราช มองว่า AAI น่าจะผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วและเป็นโอกาสที่บริษัทจะกลับมาเติบโตได้ตามสภาวะตลาดอาหารสัตว์ที่ยังเป็นเมกะเทรนด์สำคัญอีกครั้ง