เจ็บแบบหนักๆ แต่ครั้งเดียวน่าจะจบสำหรับ ผลการดำเนินงานของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ BTS ในปี 2566/2567 ที่รายงานออกมา ขาดทุน 5,241 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นผลการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยผลสำคัญมาจากการรับรู้ค่าใช้จ่าย จากการบันทึกขาดทุนด้อยค่า และจำหน่ายเงินลงทุน เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่กลุ่ม BTS ตัดสินใจขายหุ้นออกไปก่อนหน้านี้
และในขณะเดียวกัน BTS ตัดสินใจ ขอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อพิจารณา และอนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมายเพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท เพื่อแก้ไขสถานการณ์
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ BTS ผลการดำเนินงานในปี 2566/67 มีรายได้รวม จํานวน 24,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% หรือ 248 ล้านบาท จากปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักมาจาก
1. การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับ จํานวน 1,094 ล้านบาท และ 2. รายได้จากการบริการและการขายที่เพิ่มขึ้น จํานวน 726 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณา ภายใต้ธุรกิจ MIX และการรับรู้รายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูเป็นครั้งแรก ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถ และซ่อมบํารุง (O&M) ภายใต้ธุรกิจ MOVE อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของรายได้ดังกล่าวถูกหักกลบด้วย การลดลงของรายได้จากการให้บริการรับเหมา จํานวน 904 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูภายหลังการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์
ค่าใช้จ่ายรวม เพิ่มขึ้น 24.7% หรือ 4,333 ล้านบาท จากปีก่อน เป็น 21,843 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าและจําหน่ายเงินลงทุนที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวใน บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) (KEX) จํานวน 4,363 ล้านบาท บีทีเอส กรุ๊ป บันทึกกําไรจากการดําเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นประจําก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจําหน่าย ดอกเบี้ยและภาษี (Recurring EBITDA) จํานวน 8,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% หรือ 469 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า
ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของ Recurring EBITDA ของธุรกิจ MOVE ซึ่งได้แรงหนุนจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยรับที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้า และส่วนแบ่งกําไรที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นดังกล่าวถูกหักกลบบางส่วนด้วย Recurring EBITDA ของธุรกิจ MIX ที่ลดลง
สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารซึ่งเป็นผลจากการขยายธุรกิจบริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จํากัด (มหาชน) (TURTLE) และบริษัท แรบบิท แคช จํากัด (RCash)
ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่ง ขาดทุนสุทธิจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม (ผลขาดทุนจากการดําเนินงานที่เพิ่มขึ้นใน KEX และผลขาดทุนจากการดําเนินงานในบริษัท เจ มาร์ท จํากัด (มหาชน) (JMART)) นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนจากการดําเนินงาน ในบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) (แรบบิท โฮลดิ้งส์) เป็นปัจจัย หลักที่ทําให้ผลประกอบการของธุรกิจ MATCH ปรับตัวลง
ทั้งนี้บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จํานวน 5,241 ล้านบาท ปัจจัยหลักจาก (1) ผลกระทบจากการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ของผลขาดทุนจากการด้อยค่าและจําหน่ายเงินลงทุนใน KEX (2) การบันทึก ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม (ส่วนใหญ่มาจากแรบบิท โฮลดิ้งส์ ควบคู่กับส่วนแบ่งขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนใน KEX) และ (3) ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี หากหักรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจํา (ซึ่งรวมถึงผลขาดทุนจากการด้อยค่าและจากการจําหน่ายเงินลงทุนใน KEX ดังกล่าวข้างต้น) บริษัทรายงานกําไรสุทธิหลังปรับปรุงแล้ว จํานวน 275 ล้านบาท และอัตรากําไรสุทธิ (ก่อนรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจํา หลังหักส่วนที่เป็นของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอํานาจควบคุมของบริษัทย่อย) อยู่ที่ 1.2%
อย่างไรก็ตาม บีทีเอส ได้ขอเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ในวันที่ 25 ก.ค. 2567 ในการขอพิจารณาและอนุมัติการโอนทุน สำรองตามกฎหมาย 3,283,927,455 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการของสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 จำนวน 3,283,927,455 บาท ทั้งนี้ ภายหลังการโอนทุนสำรองตามกฎหมายเพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมดังกล่าว บริษัทฯ จะไม่มีผลขาดทุนสะสมในงบการเงิน เฉพาะกิจการของบริษัทฯ และจะมีทุนสำรองตามกฎหมายคงเหลือจำนวน 178,065,674 บาท และเสนอขอเพิ่มทุนแบบ PP จำนวน 650 ล้านหุ้นอีกด้วย