ส่องอนาคตหุ้นธนาคาร หลังยอมหั่นดอกเบี้ย 0.25% โบรกฯ ชี้กระทบกำไรเล็กน้อย

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่องอนาคตหุ้นธนาคาร หลังยอมหั่นดอกเบี้ย 0.25% โบรกฯ ชี้กระทบกำไรเล็กน้อย

Date Time: 26 เม.ย. 2567 11:44 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • สมาคมธนาคารไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คาดมีผลกระทบต่อประมาณการกำไรเล็กน้อย หวังการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ช่วยลดแรงกดดันจากหนี้เสียเกิดใหม่

จับตาทิศทางผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังสมาคมธนาคารไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% นาน 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SME ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คาดมีผลกระทบต่อประมาณการกำไรไม่มาก หวังการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ช่วยลดแรงกดดันจากหนี้เสียเกิดใหม่ เอื้อต่อการบริหารจัดการตั้งสำรองฯ จึงคงประมาณการกำไรกลุ่มฯ ตามเดิม


นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เบื้องต้นจากการสอบถามไปยังกลุ่มฯ ไม่ใช่การลด MRR ทั้งระบบ เป็นการลดให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ตามนิยามของแต่ละธนาคาร กล่าวคือ กลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารเล็งเห็นว่าควรให้ความช่วยเหลือซึ่งทางกลุ่มฯ อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral hazard)


ทั้งนี้ สินเชื่อที่อิงกับ MRR ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม SME และสินเชื่อบ้าน โดยแนวทางการช่วยเหลือข้างต้น ถือว่าเสริมจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พยายามผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง (จัดชั้นลูกหนี้ ตาม TFRS 9) ดังที่ทำมาตลอดตั้งแต่โควิด-19


ตามความเห็นของของฝ่ายวิจัย ผลกระทบต่อประมาณการกำไรไม่สูง สะท้อนจาก Sensitivity analysis กรณีเลวร้าย (Worst case) บนสมมติฐานลด MRR ทั้งระบบ และรับรู้เต็มปี จะกระทบกำไรกลุ่มฯ ราว 3.6%


ในขณะที่ระยะเวลาการลด MRR ตามข้างต้นอยู่ที่ 6 เดือน และเฉพาะกลุ่มเปราะบางตามมุมมองของแต่ละธนาคาร ทำให้ประเมินผลกระทบต่อประมาณการจึงน้อยกว่า Sensitivity analysis พอสมควร


ทั้งนี้ กำไรสุทธิกลุ่มฯ งวดไตรมาส 1/67 ที่คิดเป็นสัดส่วน 27% ของประมาณการกำไรทั้งปี (รวมผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลางปีนี้ 1 ครั้ง) ด้วยผลจากประเด็นข้างต้นดูจำกัด ประกอบกับคาดหวังแรงส่งจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐกระจายเข้าสู่ระบบมากขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 2567 ช่วยลดแรงกดดันจากหนี้เสียเกิดใหม่ (NPL Formation) เอื้อต่อการบริหารจัดการ ECL จึงคงประมาณการกำไรกลุ่มฯ ตามเดิม


แนวทางของสมาคมธนาคาร ถูกประกาศออกมาช่วงเที่ยงวานนี้ ทำให้แรงกดดัน ต่อราคาหุ้นได้ทยอยถูกสะท้อนในราคาหุ้นไปบางส่วนแล้ว ขณะที่ระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ 6 เดือนและเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มองว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐบาลและภาคธนาคาร เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ประคองตัวระหว่างเศรษฐกิจไทยรอมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ โดยตัวเลือกในกลุ่มฯ ยังคงเลือก

  • TTB ที่ราคาเป้าหมาย 1.98 บาท
  • KBANK ที่ราคาเป้าหมาย 148 บาท
  • BBL ที่ราคาเป้าหมาย 175 บาท
  • KTB ที่ราคาเป้าหมาย 19 บาท
  • TISCO ที่ราคาเป้าหมาย 106 บาท
  • SCB ที่ราคาเป้าหมาย 111 บาท 
  • KKP ที่ราคาเป้าหมาย 49 บาท

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ