เปิดวิธีแยก หุ้นซิ่ง กับ หุ้นเติบโต สัญญาณเตือนหุ้นหมดรอบ ที่นักลงทุนต้องรู้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดวิธีแยก หุ้นซิ่ง กับ หุ้นเติบโต สัญญาณเตือนหุ้นหมดรอบ ที่นักลงทุนต้องรู้

Date Time: 5 มี.ค. 2567 08:21 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • เปิดวิธีแยก "หุ้นร้อนแรง" กับ "หุ้นเติบโต" ประเมินมูลค่าอย่างไร พร้อมวิธีสังเกตวัฏจักรราคาหุ้น และสัญญาณเสี่ยง "หุ้นหมดรอบ" ที่นักลงทุนต้องรู้

เป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างมาก สำหรับ “หุ้นร้อนแรง” หรือหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น โดยนักลงทุนอาจเข้าซื้อ เพราะคาดหวังการเติบโตของผลประกอบการ หรือเข้าเก็งกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น แต่เราจะสามารถแยก “หุ้นร้อนแรง” ออกจาก “หุ้นเติบโต” ได้อย่างไร วันนี้ “Thairath Money” จะพาทุกคนไปหาคำตอบ


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จับมือกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดงาน SET-IAA Hot Issue ในหัวข้อ “ไขปริศนาราคาหุ้นร้อนแรงจะมีการประเมินมูลค่าอย่างไรดี” โดยแนะนำวิธีสังเกตวัฏจักรราคาหุ้น การประเมินมูลค่าหุ้น และสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าหุ้นที่ลงทุนอยู่นั้น “หมดรอบ” แล้วหรือไม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักลงทุน และนำไปปรับใช้กับการลงทุนของตัวเอง ให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด


วัฏจักรราคาหุ้น มีขึ้น..ต้องมีลง


สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรงนั้น สามารถเกิดได้บ่อยครั้ง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงปลายรอบของการเก็งกำไร


ทั้งนี้ จากข้อมูลยังไม่พบว่ามีหุ้นตัวใดที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงจากการเก็งกำไรแล้วไม่ปรับตัวลดลงเลย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีหรือไม่ก็ตาม โดยสามารถแบ่งวัฏจักรของราคาหุ้นได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่


Stealth phase - เป็นช่วงแรกของวัฏจักร ราคาหุ้นมักเคลื่อนไหวออกข้าง หรือ Sideway เป็นส่วนใหญ่ เป็นช่วงที่นักลงทุน Smart Money เริ่มเข้ามาลงทุน และนักลงทุนรายย่อยมักไม่สนใจระยะนี้


Awareness phase - ราคาหุ้นเริ่มสร้างจุดสูงสุดใหม่ และปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นักลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน ได้รับสัญญาณการซื้อจากข่าวในแง่ดี เช่น ผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนโครงการใหม่ มีพาร์ตเนอร์ระดับโลก หรือมีนักลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจ ขณะที่นักลงทุนทางเทคนิค อาจใช้กลยุทธ์การเข้าซื้อตามแนวโน้มราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น


Mania phase - ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่ มีโมเมนตัมการซื้อชะลอตัว นักลงทุนปัจจัยพื้นฐานมักหลีกเลี่ยงการเพิ่มสถานะการลงทุน พร้อมกับการรายงานผลประกอบการของบริษัทที่ต่ำกว่าคาด


Blow off phase - เป็นช่วงสุดท้ายของวัฏจักรราคาหุ้น โดยราคาหุ้นเริ่มสร้างจุดต่ำสุดที่ต่ำกว่าเดิม เกิดแรงเทขายต่อเนื่อง และราคาหุ้นจะลดลงจนสะท้อนปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น


จับสัญญาณเสี่ยง “หุ้นหมดรอบ”


สุนทร ทองทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า วิธีการสังเกตว่าหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นเติบโต หรือเป็นหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นผิดปกติ และอาจหมดรอบในระยะสั้น-ระยะยาว มักมีสัญญาณความผิดปกติ 8 ข้อ ดังนี้

  1. กำไรโตในอัตราที่ชะลอตัวลง
  2. มีการบันทึกรายการพิเศษ เพื่อทำกําไรให้ดูดี
  3. ราคาหุ้นขึ้นแรงเกิน จน P/E หรือ P/BV สูงเมื่อเทียบกับ ROE ที่เป็นไปได้
  4. ราคาหุ้นปรับขึ้นแรงจนตลาดหลักทรัพย์สั่งให้เข้ามาตรการกํากับการซื้อขาย
  5. บริษัทหลักทรัพย์ให้ซื้อขายในบัญชี Cash balance จากราคาหุ้นปรับขึ้นลงร้อนแรงเกิน จนความผันผวนเกิน 100% ในรอบ 1 เดือน
  6. มีการแจกปันผลพิเศษ แตกพาร์ แจกหุ้นปันผล แจกวอร์เรนด์ เพื่อให้นักลงทุนลืมต้นทุนที่แท้จริง
  7. มีการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง หรือโยน big lot ให้กับกลุ่มนักลงทุน หรือการโอนหุ้นออกของผู้ถือหุ้นใหญ่
  8. หุ้นเข้าเขตสัญญาณอันตราย เช่น ขอเจรจายืดหนี้, ส่งงบไม่ทัน, ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นแบบมีเงื่อนไข, ผู้บริหาร หรือกรรมการอิสระลาออกพร้อมกันหลายคน, ตลาดขึ้นเครื่องหมาย “C” (Caution), การเปลี่ยนผู้สอบบัญชีระหว่างรอบ ฯลฯ

ด้าน สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวเสริมว่า สัญญาณความผิดปกติที่อาจบอกว่าหุ้นกำลังจะหมดรอบ อาจสังเกตได้จาก ราคาหุ้นขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ โดยที่ไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางปัจจัยพื้นฐาน ไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการทําธุรกิจที่สมเหตุสมผล หรือราคาหุ้นสวนทางกับเทรนด์ และวัฏจักรอุตสาหกรรม รวมถึงสวนทางกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างมีนัยสําคัญ


ขณะเดียวกัน มักมีการลงทุนหรือออกข่าวจะทําธุรกิจใหม่ตามกระแส โดยที่บริษัทไม่มีความสามารถหรือไม่เคยทํามาก่อน หรือแนวโน้มรายได้มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง และเริ่มออกมาผิดคาด ผู้บริหารเริ่มไม่ให้แนวโน้มหรือ Guidance และมีการขายหุ้นออกมาในปริมาณสูง


พร้อมกันนี้ อาจสังเกตจากช่วงที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงปริมาณการซื้อขายเบาบาง หรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือมี Forward P/E เกิน 40-50 เท่า และดัชนีกำลังสัมพัทธ์ (Relative Strength Index : RSI) เข้าสู่ภาวะ Overbought


เปิดวิธีประเมินมูลค่า “หุ้นร้อนแรง”


สุนทร ทองทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นร้อนแรง อาจใช้เครื่องมือวัดมูลค่า Valuation metrics จากการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยพิจารณาว่าบริษัทมีการประเมินมูลค่าเหมาะสมตรงไหน แล้วก็เอาข้อมูลที่รายงานในงบการเงิน มาประเมินว่าราคาหุ้นของบริษัทนั้นอยู่ตรงไหนของ Valuation metrics


ขณะเดียวกัน หากเป็นหุ้นไอพีโอ (IPO) ให้เอากรอบตัวชี้วัดมูลค่าต่างๆ เช่น P/E (ราคาหุ้นต่อกำไร), P/B (ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี) และ EV/EBITDA (มูลค่ากิจการเทียบกับกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย) มาเป็นตัวกําหนดกรอบอย่างง่าย เพราะการซื้อขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงกว่ากลุ่มนั่นหมายถึงความน่าสนใจจะลดลง


ทั้งนี้ หากบริษัทเป็นบริษัทที่มีการเติบโตสูง ให้ใช้ PEG เป็นตัวกําหนด (อัตราส่วนระหว่าง P/E เทียบกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิ) หาก PEG มากกว่า 1 เท่า จะบ่งชี้ว่าหุ้นแพงเกินไป


อย่างไรก็ดี การประเมินมูลค่าหุ้นด้วย Discounted Cash Flow (DCF) และ Dividend Discount Model (DDM) เพื่อหาความถูกแพงของกิจการ ยังมีความจําเป็น สําหรับนักลงทุนที่มั่นใจในแนวโน้มบริษัทว่ามีความน่าสนใจสูง เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงพื้นฐาน

สิทธิชัย กล่าวอีกว่า วิธีการเบื้องต้นในการประเมินมูลค่าของหุ้นร้อนแรง ทำได้จากการคำนวณ Discount Cash Flow หรือประเมินกระแสเงินสดอิสระจากโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วคิดลดกลับมาเป็นราคาเหมาะสม (Fair value)


ขณะเดียวกัน การคำนวณราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) ทําได้โดยประเมินกําไรที่จะเกิดขึ้นจริง หากบริษัทสามารถทําได้ตามที่คาดหวัง แล้วหาตัวคูณที่เหมาะสม เช่น อาจใช้ P/E ที่อิงจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า, ใช้ P/E ของอุตสาหกรรม หรือคำนวณ P/E โดยอิงจากทฤษฎี Gordon Growth Model เป็นต้น ขณะที่ การประเมินทิศทางการปรับขึ้นของอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้สังเกตได้

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ