นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับ บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV บริษัทด้านรับเหมาก่อสร้างและโรงไฟฟ้า ที่เข้าตลาดหุ้นในช่วงปี 2564 ด้วยธุรกิจที่ดูสดใส มีรายชื่อกรรมการชื่อดัง และน่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบันราคาปรับตัวลดลงมากกว่า 90% สร้างการขาดทุนอย่างหนักกับนักลงทุน ที่ใครก็ตามจองซื้อหุ้นไอพีโอในเวลานั้น 1 แสนบาท ปัจจุบันจะเหลือมูลค่าเพียง 1 หมื่นบาท
โดยปัจจุบัน CV ได้มีมติในการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ มูลค่าไม่เกิน 500 บาท เพื่อนำมาชำระหนี้ เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัท หรือ บอร์ด อนุมัติให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ มูลค่ารวมไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้กับ AO Fund และ AO Fund1 โดยหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าว มีอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี
วัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้ดังกล่าว จะนำไปใช้ในช่วงปี 67-68 แบ่งเป็น นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 200 ล้านบาท นำไปชำระหนี้ 200 ล้านบาท และนำไปใช้ลงทุนเพื่องรองรับการต่อยอดธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอนาคตกับธุรกิจของบริษัท 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียน 154.62 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 309 ล้านหุ้น พาร์ 0.50 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้ดังกล่าว
โดยบริษัทกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 1 มี.ค. 67 เพื่อเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาเรื่องดังกล่าว กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 ก.พ.67
ทั้งนี้ ย้อนอดีตของ CV นั้น เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 2 กันยายน 2564 โดยกำหนดราคาไอพีโอที่ 3.90 บาท โดยภายหลังบริษัทเข้าระดมทุนนั้นราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 25 ม.ค. 2567 อยู่ที่ 0.37 บาท หรือลดลงกว่า 90%
CV ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจด้านวิศวกรรม และธุรกิจอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานแบบครบวงจร โดยโรงไฟฟ้ามีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 23.66 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 14.3 MW, โรงไฟฟ้าขยะ 2 MW และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 7.36 MW และ ธุรกิจเชื้อเพลิง (Fuel Supply) ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ในประเทศเวียดนาม แต่ด้วยความผันผวนของราคาก๊าซ และราคาวัตถดิบ ทำให้ผลการดำเนินงานไม่ดีนัก
โดยผลการดำเนินงานของ CV ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง โดย 3 ปีย้อนหลัง พบว่า
ปี 2564 รายได้ 1,735.87 ล้านบาท กำไร 147.17 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 1,967.22 ล้านบาท กำไร 23.28 ล้านบาท
9 เดือนแรกปี 2566 รายได้ 876.45 ล้านบาท ขาดทุน 153.15 ล้านบาท
โดยในช่วงประกาศแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนจากเดิม 640 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 2,560 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 3,840 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเข้าลงทุนในหุ้นของ บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) ธุรกิจจัดการรถเก่า ในสัดส่วน 20% มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1,040 ล้านบาท ก่อนที่ดีลดังกล่าวจะล่มลง และมีการเพิ่มทุนให้ AO Fund ในรอบนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อแกะดูรายชื่อคณะกรรมการของบริษัท ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ทั้งในด้านคอนเนกชัน และ ผลงานในอดีต โดยคณะกรรมการที่มีชื่อเสียง ได้แก่
- นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานกรรมการของ ปตท. ปัจจุบันเป็น ประธานกรรมการบริษัท, กรรมการอิสระ ของ CV
- นายบัณฑิต สะเพียรชัย อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่ง กรรมการ
- นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.), คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำรงตำแหน่งกรรมการ
- นางทิพยสุดา ถาวรามร อดีตรองเลขาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ
นอกจากนี้ จากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ตั้งแต่ 17 สิงหาคม 2566 คุณเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ได้ขายหุ้นทั้งสิ้น 17 ครั้ง โดยมีจำนวนหุ้นที่ถูกขายออกมา ถึง 132 ล้านหุ้นเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนให้กับ AO Fund จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กับ CV ให้พ้นปัญหาได้หรือไม่ โดยเมื่อดูรายชื่อบริษัทที่เคยใช้บริการ AO Fund ทั้ง JKN ALL TNDT CHO SDC JCKH JCK AJA PPPM ROH GRAND IRCP CMO และ GCAP จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตาม
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่