บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SCGP รายงานผลประกอบการปี 2566 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 17,769 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมี EBITDA margin อยู่ที่ร้อยละ 14 กำไรสำหรับปีเท่ากับ 5,248 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) อยู่ที่ร้อยละ 4
โดยกำไรสำหรับปีลดลงจากปีก่อน มีสาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายที่ลดลงซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับรายได้จากการขาย อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรโดยรวมยังอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากความพยายามในการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องและความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ รายได้จากการขายรวม 129,398 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรายได้จากการขายลดลงจากปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากปริมาณและราคาขายที่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่ม กระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษ ท่ามกลางความล่าช้าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระดับโลกและระดับภูมิภาค
ในปี 2566 อุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคในชีวิตประจำวัน โดยมีแรงขับเคลื่อนมาจากการบริโภคภายในประเทศของภูมิภาคอาเซียน การฟื้นตัวของภาคการบริการและกิจกรรมท่องเที่ยว การเปิดประเทศของประเทศจีนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบรรเทาปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ประกอบกับความต้องการในสินค้าจำเป็นทั่วโลกและผลกระทบจากการห้ามส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในบางประเทศ ช่วยสนับสนุนให้ภาคการส่งออกของภูมิภาคอาเซียนในบางอุตสาหกรรมมีการเติบโตดีขึ้น เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป ผลไม้สด และข้าว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ช้ากว่าคาด อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการส่งออกจากภูมิภาคอาเซียนชะลอตัวลงโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคงทน เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และรองเท้า
โดยอุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์มีการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งเป็นผลจากอุปทานส่วนเกินของกระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาค ส่งผลให้มีแรงกดดันด้านราคาขาย โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ราคาขายในภูมิภาคของเยื่อกระดาษและกระดาษบรรจุภัณฑ์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกนั้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มเห็นแนวโน้มการปรับราคาขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ในขณะที่ราคาขายบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Packaging) ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่ดีเนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าที่ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันยังมีการเติบโตที่ดี
ในด้านต้นทุนหลักนั้นมีการปรับตัวในทางที่ดีขึ้น ประกอบด้วยค่าขนส่งซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนตู้ขนส่งสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบหลักและพลังงานที่ปรับตัวลงท่ามกลางภาวะ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางในช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดความผันผวนของต้นทุนค่าขนส่งและการจัดการเส้นทางเดินเรือทั่วโลก
จากผลการดำเนินงานของปี 2566 คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท โดยบริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลงวดระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท ในวันที่ 22 เมษายน 2567 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 3 เมษายน 2567 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 2 เมษายน 2567
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้