สถานการณ์ของอุตสาหกรรมธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ กำลังเข้าสู่ความหนักหน่วง สะท้อนได้จากผลประกอบการย้อนหลังที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือเพียงเฉลี่ยวันละ 3-4 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่าซื้อขายหุ้นไทย ยังกระจุกตัวอยู่แค่โบรกเกอร์บางแห่งเท่านั้น
ส่วนนักลงทุนรายย่อยยังขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นจากการใช้โปรแกรมเทรด ที่มีระบบส่งคำสั่งซื้อขายความถี่สูง และการทำธุรกรรมขายชอร์ต ส่งผลให้รายได้จากค่าคอมมิชชันลดลง ดังนั้น โบรกเกอร์บางแห่งต้องมีการปรับตัว เพื่อสร้างรายได้มากขึ้น แต่หากยื้อไม่ไหว ก็อาจถึงขั้นเลิกจ้างพนักงาน
ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยกับ “Thairath Money” ว่า ธุรกิจหลักทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงที่แนวโน้มกำไรย่ำแย่ สะท้อนได้จากผลประกอบการ ที่คาดว่าปี 2566 จะหดตัวเฉลี่ยราว 50% จากปีก่อน สาเหตุหลักมองว่ามาจากมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทย ที่ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวัน ทำให้รายได้ของบริษัทหลักทรัพย์ โดยเฉพาะรายได้จากค่าธรรมเนียมหายไปค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม มูลค่าซื้อขายไม่ได้กระจายไปในแต่ละบริษัทหลักทรัพย์เพื่อสร้างรายได้มากนัก เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าซื้อขายรวม เป็นการส่งคำสั่งผ่านโปรแกรม หรือ “Algorithmic trading” ขณะที่มูลค่าซื้อขายกว่า 20% กระจุกตัวอยู่เพียงบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งเท่านั้น
“ภาพรวมคือเค้กก้อนใหญ่มีขนาดเล็กลง และเค้ก 1 ใน 4 ไปอยู่กับคนไม่กี่คน ดังนั้น เศษเค้กที่เหลืออยู่แบ่งกัน ก็ยิ่งเล็กลงเข้าไปใหญ่” ประกิต กล่าว
ดังนั้น เมื่อมูลค่าซื้อขายปรับตัวลดลง จะเห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งก็มีแนวทางปรับตัวและต้องการหารายได้เพิ่มขึ้น บ้างก็เร่งเครื่องให้เจ้าหน้าที่การตลาดมีการติดต่อลูกค้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย และหากภาพรวมของตลาดหุ้นไทยดีขึ้น นักลงทุนก็จะกล้าเข้ามาลงทุน รายได้จากค่าคอมมิชชันก็จะเพิ่มขึ้น บริษัทหลักทรัพย์ก็จะเอาตัวรอดได้
แต่หากภาพรวมตลาดหุ้นไทยซบเซาเหมือนที่ผ่านมา และนักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นจากการเข้ามาลงทุนแล้วขาดทุน พร้อมกับเจอโปรแกรมเทรดที่มีระบบส่งคำสั่งซื้อขายความถี่สูง หรือ High Frequency Trading (HFT) ประกอบกับการทำธุรกรรมขายชอร์ตจำนวนมาก ก็จะสร้าง sentiment เชิงลบให้กับตลาดหุ้น จะทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุน สถานการณ์ก็จะแย่ลงต่อเนื่อง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งอาจยื้อไว้ไม่ไหว และจะต้องมีการเอาคนออก ซึ่งมองว่าปี 2567 นี้ มีความเสี่ยงที่จะเห็นคนในแวดวงอุตสาหกรรมหลักทรัพย์หายไปอย่างน้อย 20% โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่การตลาดที่ไม่สามารถทำยอดได้ตามเป้าหมาย ส่วนฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (research) ก็อาจไม่มีการจ้างงานเพิ่ม
ขณะเดียวกัน จุดเปลี่ยนที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์เหล่านี้ได้ มองว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนรายย่อยให้กล้าเข้ามาซื้อขายหุ้นมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยหลัก ได้แก่ สภาพแวดล้อมการลงทุนต้องดี โดยมองว่าหากภาพรวมการลงทุนทั่วโลกดีขึ้น ตลาดหุ้นไทยก็จะพร้อมปรับตัวดีตาม ซึ่งการเติบโตในปีนี้สามารถคาดหวังได้จากเศรษฐกิจ น่าจะโตดีกว่าปีก่อน และรัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณปี 2567
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ โครงสร้างนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ต้องดูว่าสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงมากผิดปกติหรือไม่ ต้องจำกัดความสามารถของกลุ่ม Algorithmic trading โดยเฉพาะ HFT หรือไม่ และธุรกรรมขายชอร์ตจำนวนมาก จะต้องหยิบยกมาตรการ Uptick Rule มาช่วยหรือไม่ หากแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ นักลงทุนรายย่อยจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่หากทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ผลที่ได้ก็จะเหมือนเดิม
“จะสังเกตได้จากเดือน พ.ย. ตลาดหุ้นทั่วโลกดีหมดยกเว้นไทย เพราะไทยยังเหมือนเดิม ถ้าถามว่าจะดีขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่า อย่าทำอะไรที่มันเหมือนเดิม” ประกิต กล่าวเสริม
เมื่อถามถึงมาตรการขยายเวลาเทรดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จะเริ่มประกาศใช้เร็วๆ นี้ ว่าจะเข้ามาช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ ประกิต มองว่า “ไม่ได้ช่วยอะไร” และต้องถามนักลงทุนรายย่อยว่า หากมีเวลาซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นหรือไม่ เพราะมองว่าปัญหาอยู่ที่ “ความเชื่อมั่น”
หากนักลงทุนรายย่อยยังมีความเชื่ออยู่ว่า การเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นเสียเปรียบ ก็จะไม่กล้าเข้ามา โดยนักลงทุนรายย่อยจะกลับเข้ามาลงทุนก็ต่อเมื่อบรรยากาศการลงทุนดี เข้ามาลงทุนแล้วได้ผลตอบแทน ไม่เสียเปรียบ
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney