ตลาดหุ้นยกระดับคุมชอร์ตเซล แต่ไม่พบการชอร์ตจริง

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตลาดหุ้นยกระดับคุมชอร์ตเซล แต่ไม่พบการชอร์ตจริง

Date Time: 24 พ.ย. 2566 05:42 น.

Latest

AOT จ่อคืนเงิน 193 ล้านบาท ให้ คิง เพาเวอร์ฯ หลังเรียกคืนพื้นที่ขยายอาคารฯ รับนักท่องเที่ยวเพิ่ม

วันอังคารที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการแถลงข่าวด่วนการยกระดับการกำกับดูแลเพิ่มเติม การซื้อขายหุ้นด้วยโปรแกรมเทรดและชอร์ตเซล โดย คุณรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้แถลงว่า ได้จัดตั้ง “คณะทำงานพิเศษ” ประกอบด้วย ผู้แทนจาก ก.ล.ต. ผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้แทนจากตลาดหุ้น NASDAQ และ ผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ (KRX) เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการตรวจสอบ การซื้อขายแบบโปรแกรมเทรด และ Naked Short Selling เพื่อปกป้องนักลงทุนรายย่อย หลังจากที่มีข่าวเรื่อง Naked Short

ตลาดหุ้นไทยน่าจะเป็นแห่งแรกในโลกที่มีการตั้งคณะทำงานพิเศษแบบนี้ มีผู้แทนจาก NASDAQ ตลาดหุ้นที่ใช้ โปรแกรมเทรด และ Interactive Brokers ที่ใหญ่ที่สุดในโลกร่วมด้วย

เรื่องการตรวจสอบ Short Sell คุณรองรักษ์ แถลงว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้เพิ่มเกณฑ์ปฏิบัติ ให้โบรกเกอร์ส่งข้อมูลหลักทรัพย์ของลูกค้าที่มีธุรกรรมชอร์ตเซลภายใน 15 วัน นับจากวันส่งคำสั่ง ขายชอร์ต เพื่อให้รู้ว่าก่อนขายชอร์ตลูกค้าคนนั้นมีหลักทรัพย์ (หุ้น) อยู่ในครอบครองหรือไม่ หากโบรกเกอร์ไม่สามารถส่งข้อมูลมาภายใน 15 วัน จะสันนิษฐานก่อนว่า ลูกค้าไม่มีหุ้นในครอบครอง ถือเป็น Naked Short มีความผิด ตลาดหลักทรัพย์ฯจะส่งเรื่องให้ คณะกรรมการวินัย ดำเนินการลงโทษทางวินัยกับโบรกเกอร์ดังกล่าว ตั้งแต่ตักเตือน ปรับ ภาคทัณฑ์ ระงับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯยังมีการ ทบทวนเรื่องความเท่าเทียมกันของการซื้อขายของโปรแกรมเทรด กับผู้ลงทุนที่ไม่ได้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันอีกด้วย

คุณรองรักษ์ กล่าวว่า เรื่องการกำกับดูแลธุรกรรมชอร์ตเซล ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ส่งหนังสือเวียนไปกำชับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่เป็นสมาชิกและไม่ใช่สมาชิก รวมถึง บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นคัสโตเดียน เพื่อช่วยกันตรวจสอบว่า ก่อนที่ลูกค้าจะส่งคำสั่งขายชอร์ตนั้น ลูกค้า มีหุ้นดังกล่าวครอบครองก่อนส่งคำสั่งขายชอร์ตหรือไม่

ตลาดหลักทรัพย์ฯยังได้ประสานกับ ก.ล.ต. ให้ช่วยตรวจสอบ บัญชี ซื้อขายประเภท Omnibus หรือ บัญชีซื้อขายที่มีบุคคลเกี่ยวข้องมากกว่า 1 คน ปกติจะเป็น นักลงทุนต่างประเทศ และ มีคัสโตเดียนต่างประเทศ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ว่า เจ้าของบัญชีเป็นใคร มีการส่งคำสั่งซื้อขายตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ แต่ ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานกำกับของประเทศไทย เป็นสมาชิก ของ IOSCO หรือ ก.ล.ต.ระหว่างประเทศ สามารถขอให้ ก.ล.ต.ประเทศนั้นๆช่วยตรวจสอบได้

คุมเข้มกันขนาดนี้ ผมเชื่อว่าคงจะไม่มีขาใหญ่คนไหนในโลก หรือกองทุนยักษ์ใหญ่กองไหนในโลกจะสามารถเข้ามาทำ Naked Short ในประเทศไทยได้อีกแล้ว เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.ไทย สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังประเทศนั้นได้หมดทุกออเดอร์ ส่วนโบรกเกอร์ในประเทศก็สามารถตรวจสอบกลับไปยังลูกค้าที่ทำชอร์ตเซลได้ทุกคน เพราะมีบันทึกการซื้อขายทุกวินาที

เรื่อง Naked Short ที่เป็นข่าว จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งตลาด หลักทรัพย์ฯตรวจพบว่า เป็นคำสั่งขายจากผู้ถือหุ้นในประเทศที่มีหุ้นดังกล่าวมากกว่าที่ขาย  ทำให้ไม่เกิดการจับคู่  และไม่กระทบราคาหุ้นในช่วงนั้น วางออเดอร์ไว้เพียง 20 นาที ก็ถอนคำสั่งขายออกไปทั้งหมด

ผมได้ข่าวว่า เป็นฝีมือของมาร์เกตติ้งรายหนึ่งที่เล่นพิเรนทร์ จนทำให้เกิดความปั่นป่วนทั้งตลาด แต่ไม่ได้มีการชอร์ตจริง ผมว่าตลาดน่าจะ จับมาปรับเสียให้เข็ด เล่นพิเรนทร์แบบนี้ตลาดพัง นักลงทุนเสียหาย ไม่มีใครสนุกด้วย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ