“แอน-จักรพงษ์” นักธุรกิจหญิงข้ามเพศชื่อดัง จากจักรวาลนี้ คือ เธอ สู่ วันที่ JKN ยื่นศาลล้มละลาย

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“แอน-จักรพงษ์” นักธุรกิจหญิงข้ามเพศชื่อดัง จากจักรวาลนี้ คือ เธอ สู่ วันที่ JKN ยื่นศาลล้มละลาย

Date Time: 9 พ.ย. 2566 12:11 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • “แอน-จักรพงษ์” นักธุรกิจหญิงข้ามเพศชื่อดัง แห่ง JKN เจ้าของ จักรวาล Miss Universe หุ้นร้อน จากปัญหา ขาดสภาพคล่อง ผิดนัดชำระหุ้นกู้ สู่ ปลายทาง ยื่นศาลล้มละลาย ขอฟื้นฟูกิจการ กับ 4 เงื่อนไขตามกฎหมาย สะท้อนวิกฤติของบริษัท ที่ต้องเรียนรู้

จักรวาลนี้ คือ เธอ! นาทีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ “แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” นักธุรกิจหญิงข้ามเพศชื่อดัง เจ้าของ องค์กรนางงามจักรวาล Miss Universe แบบเต็ม 100% ของคนไทยคนแรก ภายใต้การบริหารของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN โดยข่าวคราวครั้งนั้น ได้พาให้ชื่อคนไทยคนนี้ ผงาดในเวทีระดับโลก อย่างน่าจับตามอง 

ขณะปัจจุบัน JKN ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดงานประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 72 ที่ ประเทศเอลซัลวาดอร์ ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสด เพื่อออกอากาศในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ช่วงวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2566 นี้  

เจาะไทม์ไลน์ก่อน JKN ยื่นศาลล้มละลายฟื้นฟูกิจการ

ก่อนเช้าวันนี้ ทั้งชื่อของ JKN และ แอน จักพงษ์ ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมในหน้าสื่อเมืองไทยอีกครั้ง พร้อมๆ กับ หุ้น JKN ดิ่งติดฟลอร์ เมื่อ แอน-จักรพงษ์ ทำหนังสือยื่นคำร้องถึง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จั่วหัว : JKN ขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง 

ใจความระบุ ถึงแนวทางการฟื้นฟูกิจการของ JKN ซึ่งมีทั้งการปรับโครงการกิจการ แก้ปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน หาทางออกเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน เรื่อยไปจนถึง การขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายรับจากการประกอบกิจการ และนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน โดยที่บริษัท ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ 

ย้อนไป “JKN” ภายใต้การกุมบังเหียน โดย แอน-จักรพงษ์ เจอมรสุมอย่างหนัก เป็นปัญหา ที่คงนอกเหนือการคาดเดาของเจ้าตัว และนักลงทุน เรื่อยไปจนถึง ผู้ซื้อหุ้นกู้ เพราะด้วยแผนธุรกิจ ที่หวือหวาน่าสนใจ  

โดยต้นปี 2566 “JKN” เปิดแผนใหญ่ จะขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็น Global Content Commerce Company ภายใต้ Ecosystem ของกลุ่มฯ หลังจากขึ้นเป็น เจ้าขององค์กรมิสยูนิเวิร์สแล้ว ระบุ จะนำแบรนด์มาต่อยอดสู่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคดันการเติบโตทุกกลุ่ม มุ่งหวังจะก้าวสู่บริษัทชั้นนำระดับ Global Company ขับเคลื่อนผ่านธุรกิจหลักต่างๆ

ทั้ง การขายผลิตภัณฑ์ โดยมี JKN Hi shopping เป็นเครื่องมือ, JKNCNBC สถานีข่าวเศรษฐกิจตลอด 24 ชั่วโมง ที่ถือเป็นความแปลกใหม่ของวงการข่าวไทยในช่วงเริ่มแรก และไม้เด็ด คือ รายได้จากเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส

วิกฤติหุ้นกู้-ขยายเวลา-เลิกจ้าง 

อย่างไรก็ตาม 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา แอน จักรพงษ์ ทำหนังสือถึง กลต. ว่าไม่สามารถจ่ายหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ ราว 600 ล้านบาท ได้ตามกำหนด ครบไถ่ถอน 1 ก.ย. 2566 โดยสามารถจ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แม้ว่าพยายามสรรหาแหล่งเงินทุนหลากหลายวิธีการแล้วก็ตาม 

ขณะการเจรจากับผู้ร่วมทุนของบริษัทไม่เป็นไปตามที่บริษัทคาดหวัง แต่ขอให้นักลงทุนยังเชื่อมั่นใน JKN และยืนยันจะชําระคืนเงินต้น และดอกเบี้ยทั้งหมดของหุ้นกู้รุ่นต่างๆ ซึ่งในวันนั้นเอง ทำให้หุ้น JKN ลดลงถึง 29% 

ครั้งนั้น แอน จักรพงษ์ แถลงยอมรับกับสื่อว่า เกิดมาจากปัญหาขาดสภาพคล่อง ภายใต้บริษัทรุกลงทุนในธุรกิจต่อเนื่อง โดย 1 ในนั้น ก็คือ การเข้าซื้อมิสยูนิเวิร์ส ด้วยเงินมากถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกมาด้วย กลุ่มธุรกิจ MUO ทั้งหมด แต่เนื่องด้วยเศรษฐกิจไม่สดใส โดยยกว่า ผลกระทบเงินเฟ้อต่อธุรกิจมีสูง ขณะแบงก์ก็ไม่ปล่อยกู้ เกิดเป็นช่องว่าง “สภาพคล่อง” 

7 ก.ย. 2566 มีข่าว แอน จักรพงษ์ ขายหุ้น JKN ออก 7,262,800 หุ้น และมีการรับโอนหุ้นหลายรายการในวันเดียวกัน ซึ่งภายหลัง เจ้าตัว แจงเหตุผล ว่าถูกฟอร์ซเซลล์ แต่ตนเอง ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่

11 ก.ย. 2566 เจเคเอ็น ประกาศจับมือ Top News ผลักช่วงเวลาข่าวของช่อง JKN 18 ให้กลุ่มใหม่ดูแล ขณะในกลุ่มรายการด้านบันเทิง JKN 18 ยังเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด พร้อมกระแสข่าวว่า ดีลดังกล่าว มีมูลค่าถึง 500 ล้านบาท แม้แอนจักรพงษ์ ยืนยันว่าแค่ร่วมมือไม่ได้ขาย 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ดูเหมือนจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ JKN ได้พอสมควร ส่งผลหุ้นเด้งกลับขึ้นมาทันควัน พร้อมๆ กับการตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานในส่วนงานทีวีครั้งนั้น ราว 50 คน 

ขณะเดียวกัน JKN ยังผ่าทางตัน หาทางออกให้กับ หุ้นกู้ รุ่น JKN239A ที่เป็นปัญหาได้ โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีมติอนุมัติให้บริษัทขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด กำหนด 23 ก.พ. 2567 เป็นวันที่ครบกำหนดใหม่แทน 1 ก.ย. 2566 

โดย แอน จักรพงษ์ ระบุ จะเร่งรัดการเก็บหนี้สินทางการค้าจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท จัดหาทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและเสริมสร้างสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ให้กลับมาเข้มแข็งให้ได้ ก่อนครบกำหนดใหม่ดังกล่าว เพราะยังมีหุ้นกู้อีกราว 6 รุ่นของบริษัท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงปี 2567 และ ปี 2568 ด้วย ภายใต้ ข้อมูลสินทรัพย์รวมของ JKN ณ สิ้นไตรมาส 2 ยังอยู่หลักหมื่นล้าน ที่ 12,161 ล้านบาท ส่วนหนี้สินอยู่ที่ 7,398 ล้านบาท ก่อนเจ้าตัวตัดสินใจ นำ JKN ขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง 

ประวัติ แอน จักรพงษ์-งบการเงิน JKN 

สำหรับ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ นั้น มีนามสกุลเดิม ว่า สุธีสถาพร เคยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตตนเอง กับสื่อมากมาย ว่า เกิดมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน เคร่งครัดเรื่องเพศอย่างมาก ก่อนตัดสินใจเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวถึงรสนิยมทางเพศที่แท้จริง ก่อนมีการผ่าตัดแปลงเพศ 

ปัจจุบัน แอน มีอายุ 44 ปี โดยจากข้อมูล เมื่อ พ.ศ. 2563 ติดอันดับเศรษฐีหุ้นอันดับที่ 149 ของประเทศไทย และถือเป็นสตรีข้ามเพศที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศไทยและเอเชีย และเป็นอันดับ 3 ของโลก

แอน มีลูกชายคนแรกชื่อ แอนดรูว์ และต่อมามีลูกสาวชื่อ แองเจลิก้า เป็นลูกครึ่งเยอรมันไทยทั้ง 2 คน ที่เกิดจากอุ้มบุญ ไข่ของผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน

  • ปี 2562 รายได้รวม 1,710.75 ล้านบาท กำไรสุทธิ 252.81 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 1,682.87 ล้านบาท กำไรสุทธิ 312.47 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 1,805.79 ล้านบาท กำไรสุทธิ 179.35 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้รวม 2,670.10 ล้านบาท กำไรสุทธิ 608.43 ล้านบาท
  • ปี 2566 (งวด 6 เดือนแรก) รายได้รวม 1,500.11 ล้านบาท กำไรสุทธิ 121.48 ล้านบาท 

ฟื้นฟูกิจการ กับ ล้มละลาย แตกต่างกันยังไง ?  

สำหรับ การฟื้นฟูกิจการ ตาม กฎหมายล้มละลายนั้น เอกสารเผยแพร่ของ ก.ล.ต. เคยอธิบายไว้ว่า การฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่การล้มละลาย หรือการที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่การฟื้นฟูกิจการถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ หรือพูดง่ายๆ ว่า ผู้ยื่นขอให้ มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) 

จะเปิดโอกาสให้มี การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้ง เจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ และที่ขาดไม่ได้คือ จะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการ

ขณะที่ การล้มละลาย หรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนำมา ขายทอดตลาด

ทั้งนี้ การฟื้นฟูกิจการ จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการไปยังศาลล้มละลายกลาง คือ กฎหมาย กำหนดให้ทั้งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ใน 4 เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 

  1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้
  2. เป็นหนี้ เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
  3. หนี้จำนวนดังกล่าว จะถึงกำหนดชำระในทันทีหรือในอนาคตก็ได้
  4. มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะ ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ