WHA ปิดดีล “ฉางอาน” 250 ไร่ ตั้งโรงงานผลิตอีวี ลุ้นยอดขายที่ดินปีนี้ทำสถิติใหม่

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

WHA ปิดดีล “ฉางอาน” 250 ไร่ ตั้งโรงงานผลิตอีวี ลุ้นยอดขายที่ดินปีนี้ทำสถิติใหม่

Date Time: 26 ต.ค. 2566 15:22 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • WHA ปิดดีลขายที่ดิน “ฉางอาน” ตั้งโรงงานผลิตอีวี 250 ไร่ มูลค่าขายที่ดินเกือบพันล้าน จ่อบุ๊กรายได้ไตรมาส 4/66 ลุ้นยอดขายที่ดินปีนี้ทะลุเป้า 2,750 ไร่ ทำ All Time High หลังนิคมฯ เวียดนาม-ไทยมาแรง

วันนี้ (26 ต.ค. 66) บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกาศลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินกับ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า


จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น WHA กล่าวว่า การลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย


สำหรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ โดยการซื้อขายที่ดินกับ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด มีจำนวน 250 ไร่ คิดเป็นมูลค่าที่ดินราว 1 พันล้านบาท ซึ่งจะคาดว่าจะสามารถรับรู้เป็นรายได้ในไตรมาสที่ 4/66


ขณะเดียวกัน บริษัทคาดว่าจะสามารถทำยอดขายที่ดินปี 2566 ได้มากกว่าเป้าหมาย 2,750 ไร่ ถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) โดยยอดขาย 9 เดือนแรกของปีนี้ มองว่าจะสามารถทำได้มากกว่าปีก่อนทั้งปี จากการฟื้นตัวของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามและประเทศไทย ที่ได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานผลิตของผู้ประกอบการจีน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่


อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าไตรมาสที่ 4/66 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี จากบริษัทมีแผนขายทรัพย์สินกองทรัสต์ พร้อมรับรู้ยอดขายที่ดินจาก บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด


นอกจากนี้ บริษัทเตรียมปิดดีลซื้อขายที่ดินขนาดใหญ่อีก 1 ราย ภายในต้นปี 2567 โดยคาดว่าจะมีมูลค่าหลักพันล้านบาท ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดในระยะถัดไป


ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป


ที่ผ่านมา บีโอไอ ได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 725,000 คันต่อปี


ด้าน เซิน ซิงหัว (Mr. Shen Xinghua) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีที่ได้ลงนามซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 ภายใต้การสนับสนุนจากบีโอไอในการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งนี้เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่นี้ เนื่องจากประเทศไทย และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 เป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ ด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค


ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 มีสิ่งที่เรามองหา ทั้งทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง 


นอกจากนั้นแล้ว ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย โดยเรามีแผนใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี   


รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในปี 2568 นอกจากนี้ เรายังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ